VNG คาดปี 63 พลิกมีกำไรสุทธิ หลังปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ลุยขายสินค้าในประเทศมากขึ้น คาดปี 65 รายได้แตะ 2 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 5, 2019 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรรธนะ เจริญนวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.วนชัย กรุ๊ป (VNG) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าพลิกกลับมามีกำไรสุทธิในปี 63 จากปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 371.18 ล้านบาท และในไตรมาส 1/62 ขาดทุน 228.53 ล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในปี 62 น่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากปรับโมเดลธุรกิจใหม่หันมามุ่งเน้นการขายสินค้าในประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนยอดขายในประเทศอยู่ที่เพียง 20% ขณะที่ยอดขายส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศอยู่ที่ 80%

การขยายตลาดในประเทศจะช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ, การเดินเรือ และค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทำให้ราคาขายสินค้าลดต่ำลง อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากจีนชะลอการผลิตอุตสาหกรรมไม้ และชะลอซื้อไม้แปรรูปจากประเทศไทย อุตสาหกรรมโรงเลื่อยในประเทศไทยจึงชะลอตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการชะลอการโค่นไม้ยางพาราจากสวนยางพาราที่หมดอายุการกรีด ทำให้ซัพพลายของไม้หายไปจำนวนมาก กดดันผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุน

บริษัทจึงเปิดตัวร้านค้าภายใต้ชื่อ วนชัย วู้ดสมิธ ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท วนชัย วู้ดสมิตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเพื่อพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในประเทศ โดยจะเน้นการเปิดสาขาในหัวเมืองใหญ่ ทั้งแบบร้านค้าเดี่ยว และร้านค้าที่ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการจับมือกับ บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) ผู้นำในอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิค งเป้าหมายภายในปี 66 จะมี 100 สาขาทั่วประเทศ จากปีนี้ 20 สาขา ทำให้บริษัทคาดว่าจะมียอดขายผ่านร้านค้าและผ่านทางออนไลน์ปีนี้ราว 300 ล้านบาท และปี 66 จะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันการวางจำหน่ายสินค้าให้กับโมเดิร์นเทรดยังคงดำเนินการต่อไป ทั้งสินค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ วนชัย และสินค้าที่รับจ้างผลิต (OEM) อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับโมเดลธุรกิจใหม่ บริษัทคาดว่าจะมีสัดส่วนยอดขายในประเทศปรับตัวเพิ่มเป็น 50% ในปี 65 และตั้งเป้ารายได้เติบโตเป็น 20,000 ล้านบาท

ฝนปีนี้บริษัทคาดว่ารายได้รวมจะเติบโตกว่า 10% จากการพัฒนาสินใหม่ที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ แผ่น OSB และ แผ่นวีเนียร์ โดยเตรียมเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ในปลายปีนี้ กำลังการผลิต 700 ลูกบาศก์เมตร/วัน และ 300 ลูกบาสก์เมตร/วัน ตามลำดับ โดยตั้งเป้าในปี 65 จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกโรงละ 1,000 ลูกบาสก์เมตรต่อวัน อีกทั้งแผ่น MDF ก็มีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1.2 ล้านลูกบาสก์เมตรต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 2.1 แสนลูกบาสก์เมตรต่อปี

นายวรรธนะ กล่าวว่า บริษัทก็อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุราษฎ์ธานี ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (COD) ได้ในช่วงปลายปี 63 เป็นต้นไป ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน (Solar rooftop) ที่จังหวัดสระบุรี ได้ COD แล้ว กำลังการผลิตที่ 3.5 เมกะวัตต์ โดยบริษัทวางเป้าหมายภายในปี 65 จะมีกำลังผลิตโรงไฟฟ้า Solar rooftop เพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ และโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่มเป็น 40 เมกะวัตต์ โดยวางงบลงทุนรวมกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนทางการผลิตโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวเหลือ 30% จากปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าประมาณ 70% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 4-5 ปี นับจากวันที่เริ่ม COD


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ