นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.) กฟผ. และบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านพลังงานในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี โดย กฟผ. จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการในรูปแบบระบบโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่เข้าเงื่อนไข Smart City ตลอดจนศึกษางบประมาณการลงทุน รูปแบบการลงทุน รูปแบบทางธุรกิจ และผลตอบแทนการลงทุน
ทั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือในการพัฒนาระบบไฟฟ้า สำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อันมีส่วนช่วยผลักดันนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ตามนโยบาย ENERGY 4.0 ของรัฐบาล รวมถึงยกระดับการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมภารกิจการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของ กฟผ.
ด้านนายธนาธิษณ์ ช้อยแสง กรรมการผู้จัดการ NNEG กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการธุรกิจในเขตอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี มีปริมาณมากขึ้น และเพื่อให้การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภายในเขตอุตสาหกรรมของ NNEG มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมมือกับ กฟผ. ศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของทั้ง 2 องค์กร
สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนา Smart City ด้านพลังงาน มีระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี นับจากวันลงนามสัญญา โดยมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะส่วนที่อยู่ในโครงข่ายการประกอบธุรกิจของ NNEG ทั้งนี้ กฟผ. จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาการพัฒนา Smart City ด้านพลังงาน และมี NNEG เป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุนข้อมูลและการเข้าพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทรัพยากร และบุคลากรด้าน Smart Grid รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ เกิดการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และเกิดความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ด้าน Smart Gridและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศต่อไป
อนึ่ง สำหรับ NNEG เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าในเขตอุตสาหกรรมนวนคร โดยมีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) 40% , บมจ.นวนคร (NNCL) และ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ถือหุ้นฝ่ายละ 30%