นายภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง (ACG) คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทจะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากการทยอยเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนงาน โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งล่าสุดวานนี้ได้โชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ฮอนด้าสาขานาคา เป็นสาขาที่ 8 อย่างเป็นทางการ และยังจะทยอยเปิดสาขาต่อไปให้ครบทุกภูมิภาค เนื่องจากบริษัทมีแผนระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 156 ล้านหุ้น และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยมี บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
อนึ่ง โชว์รูมและศูนย์บริการฮอนด้า สาขานาคา จ.ภูเก็ต ตั้งอยู่บนพื้นที่ 7 ไร่ ซึ่งเป็นสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี มีพื้นที่ให้บริการ 8,000 ตารางเมตร ในส่วนของศูนย์บริการมีช่องซ่อมมากกว่า 50 ช่อง สามารถรองรับรถของลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้เดือนละราว 2,400 คัน
ACG ประกอบธุรกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding company) ที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายและการให้บริการในอุตสาหกรรมรถยนต์ และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ปัจจุบัน ACG ถือหุ้นในบริษัทย่อย คือ บริษัท ฮอนด้ามะลิวัลย์ จำกัด (บริษัทแกน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้จำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ปัจจุบันมีโชว์รูมและศูนย์บริการทั้งหมด 8 แห่ง และศูนย์แสดงสินค้า (โชว์รูม) อีก 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ดังนี้ 1. สาขาสุรินทร์ 2. สาขาบุรีรัมย์ 3. สาขานางรอง จ.บุรีรัมย์ 4. สาขาประชาสโมสร จ.ขอนแก่น 5. สาขามะลิวัลย์ (สำนักงานใหญ่) จ.ขอนแก่น 6. สาขาวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ 7. สาขาภูเก็ต 8. สาขานาคา จ.ภูเก็ต และ 9. สาขากระบี่
บริษัทยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ธุรกิจส่วนงานบริการซ่อมและจำหน่ายอะไหล่ ซึ่งให้บริการหลังการขายตามมาตรฐานของฮอนด้า เช่น บริการซ่อมบำรุง ซ่อมตัวถังและสี ตลอดจนการจำหน่ายอะไหล่ และธุรกิจจากการนำเสนอบริการสินเชื่อเช่าซื้อและประกันภัยรถยนต์
สำหรับแผนงานในอนาคตกลุ่ม ACG จะพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท โดยจะขยายโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า อย่างต่อเนื่องจนครบทุกภูมิภาคของประเทศไทยตามเป้าหมาย โดยมีโครงการเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการใหม่ที่หัวเมืองใหญ่และเมืองรองของภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นจำนวน 7 แห่ง ภายในระยะเวลา 5 ปี
นายภานุมาศ กล่าวว่า การทยอยเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทแล้ว ยังส่งผลดีในแง่ของ Economy of Scale และช่วยให้การบริหารสต็อกรถยนต์ในมือมีความคล่องตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทต้องสต็อกรถยนต์มูลค่าราว 300-400 ล้านบาทในแต่ละเดือน รวมถึงจะช่วยขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลาย เนื่องจากคนในแต่ละพื้นที่มีพฤติกรรมการใช้บริการต่างกัน จึงช่วยลดความผันผวนในแง่ของ Seasonal Effect ได้
บริษัทมีจุดแข็งจากความสัมพันธ์ที่ดีกับทางฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ที่ทำให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างกรณีของ จ.ภูเก็ต ตัวแทนจำหน่ายรายเดิมได้ขอยกเลิกสัญญากับทางฮอนด้าไป บริษัทก็ได้รับการพิจารณาให้เข้ามาดำเนินงานแทน ขณะที่บริษัทมีความชำนาญในการออกแบบโชว์รูมและศูนย์บริการที่มีศักยภาพสูงในการให้บริการลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการตั้งประมาณการไว้
ปัจจัยสำคัญในการเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการใหม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจัดหาที่ดิน และศักยภาพของตลาดรองรับรวมไปถึงผลจากการศึกษาศักยภาพของตลาดที่กลุ่มบริษัทจะเข้าไปขยายสาขา โดยพิจารณากลุ่มลูกค้า กำลังซื้อและ สภาพการแข่งขัน ซึ่งกลุ่มบริษัทมีกลยุทธ์ในการเลือกทำเลที่ตั้งที่ยู่ในแนวเส้นทางโทรคมนาคม และอยู่ในแหล่งชุมชน โดยอาจจะเลือกจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางสัญจรหลัก
การออกแบบโชว์รูมและศูนย์บริการเป็นไปตามแบบมาตรฐานที่กลุ่มบริษัทกำหนด โดยภายในบริเวณโชว์รูมเน้นความโดดเด่นที่อบอุ่นเป็นมาตรฐานของ ACG สามารถดึงดูดให้กลับมาใช้บริการอีกจากการให้บริการที่รวดเร็ว ใส่ใจในการบริการ และเน้นคุณภาพของการให้บริการ อันเป็นเอกลักษณ์ของ ACG การลงทุนตั้งโชว์รูมและศูนย์บริการของบริษัทมี 3 รูปแบบ ทั้งขนาด S ที่มีมูลค่าการลงทุนราว 60-80 ล้านบาท ขนาด M มูลค่าลงทุนราว 80-100 ล้านบาท และขนาด L มูลค่าลงทุนราว 100-120 ล้านบาท
ด้านผลประกอบการของบริษัท ล่าสุด ไตรมาส 1/62 บริษัทมีรายได้ 825.98 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.75 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.04 บาท จากปี 61 ทั้งปีบริษัทมีรายได้ 2.4 พันล้านบาท และมีกำไร 27.68 ล้านบาท สัดส่วนรายได้หลักมาจากการจำหน่ายรถยนต์และอุปกรณ์ราว 86% รายได้จากค่าซ่อมและอะไหล่ 10% รายได้จากค่านายหน้าประกันภัยและสินเชื่อเช่าซื้อ 2% ที่เหลือเป็นรายได้อื่น ๆ
ปัจจุบัน กลุ่ม ACG มีทุนจดทะเบียนจำนวน 300,000,000 บาท แบ่งเป็น 600,000,000 หุ้น โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 222,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 444,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO จะมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเต็มจำนวน
โครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 14 ก.ย.61 มีกลุ่มรังคกูลนุวัฒน์ ถือหุ้นรวมกัน 444,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 100% และหลังการเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 74%