นายรุจิกร ภาวสุทธิไพศิฐ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีในสิ้นปี 62 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 9.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 61 ที่อยู่ในระดับ 8.9 หมื่นล้านบาท โดยไตรมาส 1/62 ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาทแล้ว หลังจากไตรมาส 1/62 การปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ลูกค้าเอสแอ็มอีเติบโตสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 5.4 พันล้านบาท
การเติบโตขึ้นของสินเชื่อเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาส 1/62 มาจากลูกค้าใหม่ที่เข้ามาขอสินเชื่อเพื่อนำไปขยายธุรกิจ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเติบโตได้เพียงเล็กน้อยที่ 2.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และแนวโน้มยังดูอ่อนแอเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่เป็นตัวฉุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่เมื่อมององค์ประกอบอื่นๆ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงมีการเติบโต คาดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความมั่นใจในการที่จะลงทุนและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างดี
ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 2/62 คาดว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ของลูกค้าเอสเอ็มอีอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากปกติการขอใช้สินเชื่อที่มีการชะลอตัวอยู่แล่ว เพราะมีวันหยุดยาวในเดือน เม.ย. ประกอบกับในปีนี้มีวีนหยุดพิเศษเพื่มขึ้นมาในช่วงเดือน พ.ค. อีกทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มต่างรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ด้วย แต่มองว่าน่าจะยังมีเติบโตได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อใหม่ของลูกค้าเอสเอ็มอีในไตรมาส 2/62 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่ต่ำที่สุดของปีนี้ โดยประเมินพอร์ตสินเชื่อคงค้างของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ณ สิ้นไตรมาสจะอยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 62 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ของธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโต 60% หรือมียอดปล่อยใหม่อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท จากที่ปี 61 ธนาคารมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีราว 1.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 60%
"ภาพรวมของสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในปีนี้เติบโตดีขึ้นกว่าปีก่อนมาก มีลูกค้าใหม่เข้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีไปโต 40% แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะออกมาไม่ค่อยดีก็ตาม แต่ในภาพรวมก็ยังมองว่าปีนี้ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงเติบโตขึ้นได้ และดีกว่าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนผลกระทบของสงครามการค้าก็มองว่าจะไม่รุนแรงไปมากกว่านี้แล้ว และสถานการณ์ต่างๆน่าจะค่อยดีขึ้น ส่วนในประเทศก็เตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งทำให้ความมั่นใจกลับมามากขึ้น"นายรุจิกร กล่าว
สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้ที่ธนาคารมองว่ามีความโดดเด่นมากและเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ธนาคารเน้นในการปล่อยสินเชื่อให้ ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจในรูปแบบ B2C กลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ด้านแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปัจจุบันมองว่าปรับตัวดีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา และแทบไม่มีหนี้เสียที่เกิดใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารมีความรัดกุมในการพิจารณาสินเชื่อ และนำโมเดลการประเมินความเสี่ยงใหม่เข้ามาใช้ที่เรียกว่า T-Score ด้วยการตรวจสอบธุรกรรมก่อนที่จะรับเข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคาร ซึ่งส่งผลดีต่อแนวโน้มของคุณภาพหนี้ และทำให้ NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารมีแนวโน้มที่ดีหรืออยู่ในระดับที่ทรงตัวจากสิ้นปีก่อน
นอกจากนี้ธนาคารยังมีคำแนะนำสำหรับทายาทธุรกิจตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไปที่เข้ามาบริหารธุรกิจต่อจากรุ่นแรก จะต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว เพื่อรองรับกับธุรกิจใหม่ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Disrupt ธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นและสร้างการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อธุรกิจเดิมอย่างมาก ซึ่งทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาบริหารงานต่อจะต้องมีการปรับตัวและเตรียมตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีพร้อมกับนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ เพื่อการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับธุรกิจต่อไป แต่ถ้าหากไม่มีการปรับตัวหรือเตรียมความพร้อมจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ในระยะกลาง-ยาว ทั้งนี้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีการใช้วงเงินสินเชื่อของธนาคารในปัจจุบันมีจำนวน 25,000 ราย