นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจผลักดันผลการดำเนินงานทั้งในส่วนรายได้และกำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีจากนี้ เป็นผลจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 70% มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วจำนวน 600 เมกะวัตต์ (MW) จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครบภายใน 4 ปี ขณะที่มีเป้าหมายจะหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้มี PPA ครบ 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 64
ส่วนในธุรกิจงานรับเหมาและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้ง ที่มีสัดส่วนรายได้ราว 30% นั้นได้วางเป้าหมายจะรักษาฐานปริมาณงานในมือ (Backlog) ของธุรกิจ EPC ให้อยู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท/ปี จากปริมาณงานโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่มีออกมาค่อนข้างมากในช่วงนี้ บริษัทก็จะเข้าไปร่วมประมูลงานต่อเนื่อง โดยปริมาณงาน EPC ที่เพิ่มขึ้นก็จะผลักดันให้ธุรกิจเทรดดิ้งของบริษัทเติบโตตามไปด้วย
"ภาพรวมกันกุลฯโตด้วยพลังงานจาก PPA ที่มีตาม Backlog และจากที่จะซื้อเพิ่ม ส่วนงานก่อสร้างก็ทยอยโตตาม Backlog ที่หามา และเทรดดิ้งก็โตตามไปด้วย เราเชื่อว่าพลังงานที่ทยอย COD ทุกไตรมาส บวกกับ Backlog ที่ทยอยเก็บ ก็ยังน่าจะส่งให้กันกุลฯดูมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 3 ปี ซึ่งเป็นการเติบโตทั้งรายได้และกำไร"นายสมบูรณ์ กล่าว
GUNKUL มีผลกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 60 และทำระดับสูงสุดที่ 1.09 พันล้านบาทในปีที่แล้ว และมีรายได้รวม 6.46 พันล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/62 บริษัททำกำไรสุทธิได้แล้ว 224.89 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1.46 พันล้านบาท
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปีนี้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ปัจจุบันมีงานในมือราว 7 พันล้านบาท และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีงานประมูลออกมาไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถคว้างานเพื่อให้มีงานในมือครบ 1 หมื่นล้านบาทได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยมีงานประมูลสำคัญ ได้แก่ งานควบคุมระบบ SCADA แบบ TDMS ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 1.2 พันล้านบาท ,งานเคเบิ้ลใต้ทะเล ระบบ 115 KV เกาะสมุย มูลค่า 1.7 พันล้านบาท ซึ่งทั้งสองงานคาดว่าจะรู้ผลในช่วงไตรมาส 3/62 ขณะที่งานประมูลเคเบิ้ลใต้ทะเล ระบบ 33 KV เกาะเต่า มูลค่า 1.4 พันล้านบาท และงานเคเบิ้ลใต้ทะเล เกาะปันหยี มูลค่า 220 ล้านบาท น่าจะเริ่มทยอยออกมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นอกจากนี้ในช่วง 3 ปีนี้คาดว่าจะมีงานประมูลของกฟภ. ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และงานนำสายไฟฟ้าลงดินของสายจำหน่ายออกมาราว 3 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งบริษัทคาดหวังจะได้งานในแต่ละปีราว 10% นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสที่จะเข้าไปร่วมแบ่งงานจากโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินในอนาคตด้วย โดยเฉพาะงานระบบกราวด์ดิ้ง มูลค่าราว 200-300 ล้านบาท รวมถึงจะเป็นการต่อยอดรับงานติดตั้งระบบสายเคเบิลไฟเบอร์ออฟติกตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าด้วย หลังคาดว่ากลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทจะได้รับงานโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินดังกล่าว
ด้านนางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร ของ GUNKUL กล่าวว่า สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน ปัจจุบันดำเนินธุรกิจทั้งในรูปแบบของโรงไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ อย่างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม ซึ่งมีโครงการทั้งในและต่างประเทศ และรูปแบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อการจำหน่ายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ประกอบการ (Private PPA) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) จะเป็นการดำเนินการในประเทศที่ปัจจุบันยังมีคงมีการเติบโต ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในประเทศนั้นจะยังไม่เกิดขึ้นมากในช่วงนี้
ปัจจุบันบริษัทมี PPA ในมือ 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลม 170 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยสิ้นปี 61 มีโรงไฟฟ้า COD แล้ว 328 เมกะวัตต์ และในปีนี้จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอีกราว 100 MW ซึ่งมาจากโครงการโซลาร์ฟาร์มคิมิตสึ ในญี่ปุ่น กำลังผลิตราว 30 เมกะวัตต์ ที่เริ่ม COD แล้วเมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ,โซลาร์รูฟท็อป ในรูปแบบ Private PPA กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่จะ COD ในไตรมาส 3/62 และโซลาร์ฟาร์ม ในมาเลเซีย กำลังผลิตราว 38 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในต้นเดือนธ.ค. ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตที่ COD ณ สิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 428 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จใน 4 ปี
อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทวางแผนที่จะหา PPA ในมือเข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าจะทำได้ราว 100 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเจรจาซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศเวียดนามกำลังการผลิตราว 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3/62 ,ศึกษาการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย และศึกษาการลงทุนโครงการพลังงานลมและโซลาร์ในไต้หวัน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในครึ่งหลังปีนี้
ส่วนงานโซลาร์รูฟท็อป รูปแบบ Private PPA นั้น มีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิต 60-70 เมกะวัตต์ในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ในมือแล้วราว 30-40 เมกะวัตต์ โดยเป็นของกลุ่มบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ,โตโยต้า เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการยื่นเสนองานดังกล่าวแก่กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อ ,กลุ่มโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะได้งานอย่างน้อย 20-30 เมกะวัตต์ โดยน่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปีนี้
นางสาวโศภชา กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตมาที่ระดับ 8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้จากงานในมือ EPC ที่มีอยู่ 7 พันล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 2 พันล้านบาท และการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่ทยอย COD ในปีนี้