นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า SET Index ในเดือนมิถุนายน 2562 มีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ 1,580-1,680 จุด โดยดัชนีหุ้นไทยสามารถสร้างฐานที่บริเวณ 1,600 จุดได้แล้ว เนื่องจากเป็นระดับที่ค่อนข้างถูกในแง่ของ Valuation ทั้งนี้ จากการคำนวณล่าสุดพบว่าระดับ Earning yield gap ของตลาดหุ้นไทย (ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) สามารถยืนเหนือค่าเฉลี่ยระยะยาวได้แล้ว โดยหากคิดกลับจะพบว่า ระดับดัชนียุติธรรมที่จะทำให้ค่า Earning yield gap นี้กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวจะได้แก่ 1,660 จุด ทำให้มองว่า SET Index จะเริ่มแกว่งตัวออกด้านข้างมากขึ้นที่บริเวณนี้
"ในเชิงกลยุทธ์แนะนำให้ถือหุ้นสำหรับผู้ที่เข้าลงทุนที่ระดับดัชนีต่ำกว่า 1,620 จุด ตามที่ทรีนีตี้ได้แนะนำไปก่อนหน้านี้ และหาจังหวะทยอยขายทำกำไร หากดัชนีปรับตัวขึ้นไปบริเวณกรอบแนวต้านที่ 1,680 จุด" นายณัฐชาต กล่าว
นายณัฐชาต กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนนี้ ประกอบด้วย พัฒนาการของปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งทุกอย่างยังคงเป็นไปตามกรณีฐานที่คาดไว้ นั่นคือการที่พรรคพลังประชารัฐน่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ แต่การเริ่มต้นดำเนินงานของรัฐบาลนั้นคงจะยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร เนื่องจากมีจำนวนคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 250 ที่นั่งไม่มากนัก ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาออกกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.งบประมาณเผชิญกับอุปสรรคระหว่างทางได้ จึงยังคงมีมุมมอง ‘เป็นกลาง’ กับปัจจัยการเมืองในประเทศและไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นนี้
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นการประชุมรอบใหญ่ที่มีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและรายงานประมาณการการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Dot plots) ออกมา โดยในกรณีฐานประเมินว่าในการประชุมครั้งนี้เฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 2.25-2.50% ค่อนข้างแน่ แต่มีโอกาส 50:50 ที่เฟดจะมีการปรับลดประมาณการ Dot plots ลงจากเดิม 1 ขั้น ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง คาดจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ของสหรัฐฯทรงตัวในระดับต่ำ และเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลกผ่านมิติของ Earning yield gap ต่อไป
การประชุมร่วมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอนโอเปก ในวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้ ซึ่งจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาตลอดทาง ทำให้ประเมินว่ามีโอกาสสูงมากขึ้นที่ในการประชุมดังกล่าวจะมีการพิจารณาต่ออายุการลดกำลังการผลิตวันละ 1.2 ล้านบาร์เรลออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ จากเดิมที่จะสิ้นสุดอายุลงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งหากดีลนี้เกิดขึ้นจริง คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวรีบาวด์ขึ้นได้ คล้าย ๆ กับภาพเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ได้อานิสงส์จากการประกาศลดกำลังการผลิตในเดือนธันวาคมเช่นกัน
การประชุม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ ซึ่งล่าสุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมากล่าวว่าจะใช้เวทีนี้ในการหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนโดยตรง และจะตัดสินใจหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกจำนวน 3.25 แสนล้านดอลลาร์หรือไม่ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่อาจต้องติดตามก่อนหน้านั้นได้แก่ การทำประชาพิจารณ์ของสหรัฐฯในประเด็นการขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯดังกล่าว ในช่วงประมาณวันที่ 17 มิถุนายน
สำหรับธีมการลงทุนที่น่าสนใจ ในช่วงต้นเดือนที่ปัจจัยสงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป คาดว่าหุ้นกลุ่ม Domestic Play มีโอกาสที่จะปรับตัว Outperform ต่อไปในระยะสั้น ซึ่งได้แก่ กลุ่มสื่อสาร, ค้าปลีก, รับเหมาก่อสร้าง โดยใน Sector เหล่านี้ Top pick ประจำแต่ละกลุ่มได้แก่ ADVANC, CPALL, CK อย่างไรก็ดีก็ไม่ตัดโอกาสที่หุ้นกลุ่มวัฏจักรหรือกลุ่ม Cyclical จะมีโอกาสกลับมาปรับตัวรีบาวด์ขึ้นได้ในช่วงถัดไป หากว่ามี Positive surprise เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญที่รออยู่ในเดือนนี้ ซึ่งในหุ้นกลุ่มนี้ มองตัวที่น่าสนใจได้แก่ PTTEP, PTTGC, III
ส่วนธีมการลงทุนสุดท้ายที่น่าสนใจได้แก่กลุ่มหุ้นปันผลสูง จากการที่ระดับ Dividend yield gap ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้ยังมีปัจจัยบวกในประเทศ จากการที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินบางส่วนโยกย้ายออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้ที่จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้มาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ มองตัวเด่นที่น่าสนใจ ได้แก่ หุ้นขนาดใหญ่ในดัชนี SETHD ที่มีระดับ Dividend yield คาดการณ์เกินกว่า 3% ขึ้นไป และมักมีการจ่ายปันผลระหว่างกาล ได้แก่ PTT, ADVANC, SCC, SCB, BBL, PTTGC และ LH