นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ปี 62 คาดว่าจะทำได้ที่ระดับ 2.4 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเติบโต 50% มาอยู่ที่ 3 พันล้านบาท โดยจะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการขายและบริการหนังผืนที่ระดับ 2 พันล้านบาท และธุรกิจออกแบบและจัดจำหน่ายเรือและรถโดยสารขนาดเล็กที่ผลิตด้วยอลูมิเนียมรวม 400 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด (SakunC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยเป้าหมายรายได้ที่ลดลง เป็นผลจากการส่งมอบรถที่ล่าช้ากว่าคาด
ทั้งนี้ การดำเนินงานในธุรกิจรถโดยสารเสร็จสิ้นแล้วกว่า 80% อยู่ระหว่างการทดสอบมาตรฐานคุณภาพร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คาดว่าใช้เวลาอีกสักระยะจึงสามารถส่งมอบได้ ซึ่งหากมีการส่งมอบได้ล็อตแรกปลายปีนี้จำนวน 208 คัน จะเป็นการเปิดทางให้บริษัทสามารถรับงานจากภาครัฐได้มากขึ้น เนื่องจากมีการทดสอบโครงสร้างความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานจากสวทช.เป็นตัวการันตี ส่วนธุรกิจเรือมีสินค้ารอส่งมอบราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบและรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ราวเดือนละ 2 ลำ ซึ่งที่ผ่านมาเรือตรวจการณ์ค่อนข้างได้รับความนิยมสูง
ขณะที่ล่าสุดสวทช. ได้เข้าลงทุนใน SakunC สัดส่วน 10% โดยเป็นการซื้อจากกลุ่มบริษัทโชคนำชัย มูลค่ารวม 20 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อยอดธุรกิจยานยนต์ในโครงการดังกล่าวด้วย โดยจะดำเนินการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมที่มีการใช้วัสดุ ประกอบกับยังมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการออกแบบ วิจัย พัฒนา และผลิตเป็นยานพาหนะสมัยใหม่ (Modern Transportation) เช่น เรืออลูมิเนียม รถโดยสารอลูมิเนียม และยานยนต์ประเภทอื่นที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างครบวงจร ด้วยทีมงานคนไทย และช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทย ให้มีความก้าวหน้า
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาด 9 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ โดยรอความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะออกร่างประกาศเชิญชวนประมูล (TOR) ภายในเดือนก.ย.นี้ จากปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้วคือโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มจำนวน 5 เมกะวัตต์
"ปีนี้ยอดขายรถคงจะไม่บูมซึ่งต้องรอรถล็อตแรกส่งมอบแล้วเสร็จ ส่วนเรือยังมียอดขายในระดับทั่วไป และธุรกิจหลักน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ปีหน้าคาดว่ายอดขายส่วนใหญ่จะมาจาก SakunC จะมียอดขายรถและเรือที่ดี" นายวีระพล กล่าว
ด้านนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือกับ CWT และ SakunC จะทำให้เป็นพันธมิตรร่วมกันพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขึ้นรูปและลดน้ำหนักโครงสร้าง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมด้านยานพาหนะสมัยใหม่ และยานพาหนะสมัยใหม่ดังกล่าวจะเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทาง รวมถึงการท่องเที่ยวของคนไทยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป รวมทั้งยังสอดคล้องกับกรอบแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ของประเทศ และเป็นโอกาสดีในการส่งผ่านองค์ความรู้ ตลอดจนงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมจากภาครัฐและเอกชน
นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย และ SakunC กล่าวว่า การร่วมมือกับ สวทช. ในครั้งนี้ จะนำองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาของบริษัท ต่อยอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเรืออลูมิเนียม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล (CFD) ช่วยจำลองสภาวะการใช้งานและศึกษาความสัมพันธ์ ตลอดจนผลกระทบจากการไหลของน้ำที่มีต่อโครงสร้างเรือ
ขณะเดียวกันการร่วมมือกับ สวทช. ยังช่วยวิจัยเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างรถโดยสารตัวถังอลูมิเนียม ซึ่งผลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ลดน้ำหนักของโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และมีความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งความรู้ตัวนี้จะช่วยในการลดน้ำหนักและต้นทุนผลิต อีกทั้งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในรถโดยสารไฟฟ้าในอนาคต สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมของประเทศได้โดยตรง โดยในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปีและเป็น Top5 Asia ที่ทำแม่พิมพ์สำหรับผลิตตัวถังรถยนต์ได้ทุกชิ้นส่วน ส่งตรงบริษัทชั้นนำมากมายทั่วโลก