นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงข่าวเปิดบ้าน ก.ล.ต. และนโยบายในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยอย่างเป็นทางการภายหลังเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แนวทางกำหนดนโยบายและการทำงานของ ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี , แผนพัฒนาตลาดทุนปี 2560-2564 , สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฉบับที่ 6 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 17 เม.ย.62 ,การพัฒนาในทุกมิติรองรับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ,พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน,สานงานต่อเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
สำหรับนโยบายสำคัญที่จะเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย นโยบายให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาปรับเกณฑ์หุ้นสามัญเสนอขายแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ให้เหมาะสมกับธุรกิจ SME เนื่องจากเกณฑ์เดิมไม่เอื้อให้ธุรกิจ SME เข้าระดมทุน
ภายในเดือน ก.ค.นี้ทาง ก.ล.ต. เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) อย่างเป็นทางการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในระยะถัดไปจะร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้ SME ที่มีคุณภาพเข้ามาระดมทุนในตลาดทุน และภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก.ล.ต. เตรียมจัดโครงการคาราวาน เพื่อเข้าไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะนำร่องในจังหวัดขอนแก่น
"ปัจจุบันเล็งเห็นถึงความสำคัญ SME ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย สร้างการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน ดังนั้น ถ้าผลักดัน SME มีเงินทุนขยายธุรกิจ เชื่อว่าจะยกระดับเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้นในอนาคต"นางสาวรื่นวดี กล่าว
นอกจากนี้ ในการจัดกองคาราวานนั้น ก.ล.ต.จะดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนกับประชาชน เบื้องต้นจะขอความร่วมกับพันธมิตรที่มีเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนลงทุนอย่างถูกต้องไม่โดนหลอก เหมือนกรณีแชร์ลูกโซ่ ขณะเดียวกันยังต่อยอดผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีคุณภาพไว้ใช้เป็นเงินออมในยามเกษียณอายุ เป็นต้น
แม้ว่า ก.ล.ต. จะมีบทบาทในมุมของการกำกับดูแล แต่ยังคงให้ความสำคัญเรื่องคุ้มครองผู้ลงทุน เนื่องจากโลกการลงทุนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ที่ผ่านมาได้ออกกฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อมากำกับดูแลโดยตรง ปัจจุบัน ก.ล.ต. กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Investor Protection Fund ในลักษณะกองทุนเพื่อเยียวยาและคุ้มครองผู้ลงทุนครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากลงทุนในทุกๆสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่ามีความชัดเจนใน 3-6 เดือนข้างหน้า
รวมทั้ง อยู่ระหว่างประสานงานกับสมาคมคุ้มครองผู้ลงทุนไทย เพื่อขอความร่วมมือเข้ามาเป็นแกนหลักในการดูแลเรื่องนี้ และจะขอความร่วมมือกับทางสภาทนายความเข้ามาดูแลเรื่องของข้อกฎหมายในการดำเนินคดีต่อไปด้วย ส่วนผู้ลงทุนที่ต้องการร้องเรียนสามารถโทรสายด่วน 1207 เพื่อยื่นเสนอเรื่องเข้ามาที่ ก.ล.ต.ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนด้านความร่วมมือและส่งเสริมงานด้านต่างประเทศ คาดว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทีมคณะผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต.ไทย จะเดินสายเข้าพบกับคณะผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต. ประเทศกัมพูชา ,เมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ด้านตลาดทุนร่วมกัน เช่น การจดทะเบียนบริษัท 2 ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ออกใบแทนหลักทรัพย์โดยมีหุ้นของบริษัทเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง (ดีอาร์) เป็นต้น
เลขาฯ ก.ล.ต. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้เข้าหารือกับ ก.ล.ต.ประเทศฮ่องกง มีแนวทางร่วมกันคือศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ เป็นแผนเดิมตั้งแต่ปี 2547 แต่กระบวนการต่างๆจะเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุนของไทยยกระดับในเวทีโลกมากขึ้น
"ภารกิจสำคัญของ ก.ล.ต. แม้ว่าเราจะมีหน้าที่บังคับใช่กฎหมายให้มีประสิทธิภาพแล้ว แต่การพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน เปลี่ยนเข้าสู่ Digital Transformation นับเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน และยังต้องควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนให้มีความรู้เท่าทันกับโลกการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันได้นำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์การทำงานในมิติต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ทั้งด้านของฝั่งดูแลกฎหมาย หรือเป็นการนำมาเชื่อมโยงกับฝั่งตลาดเงิน มีเป้าหมายยกระดับดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆในเวทีโลกได้ในระยะยาว"นางสาวรื่นวดี กล่าว