นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) หรือพีทีที โออาร์ ในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า พีทีที โออาร์ ร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม และโครงการร่วมทุนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มปตท. และผู้บริหารภาครัฐและเอกชนของประเทศเมียนมาเข้าร่วม ซึ่งประกอบด้วย นายเพียว มิน เต็ง มุขมนตรีภาคย่างกุ้ง และ นายเนียว มิน กรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มบริษัท คันบาวซา จำกัด นายกอง ซาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ รีเทล จำกัด
พีทีที โออาร์ จะดำเนินธุรกิจร่วมกับกลุ่มบริษัท คันบาวซา จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา อีกทั้งประเทศเมียนมายังเป็นหนึ่งในประเทศบริษัทมีแผนงานในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกอย่างครบวงจร เนื่องด้วยมีปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในระยะยาว
สำหรับครั้งนี้มีการลงนามความร่วมมือใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ในการจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงการจัดตั้งและบริหารคลังน้ำมัน ท่าเรือ และโรงบรรจุก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 64 นับเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา มีความจุรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล และมีความจุแอลพีจี รวม 4,500 เมตริกตัน
โครงการร่วมทุนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ รีเทล จำกัด โดยจะนำแบรนด์ของ พีทีที โออาร์ ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยมาต่อยอดเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคชาวเมียนมา ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ก๊าซหุงต้มแอลพีจี และร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน
นายอรรถพล กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ในประเทศเมียนมา ยังคงเป็นไปภายใต้แนวคิดหลัก "ลีฟวิ่ง คอมมิวนิตี้" (Living Community) เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้เกษตรกร ชุมชนและธุรกิจเอสเอ็มอี ได้ร่วมเติบโตไปพร้อมกับการขยายเครือข่ายสถานีบริการฯ โดยวางเป้าหมายการขยายสถานีฯ ที่ 70 แห่ง ภายในปี 66 ปัจจุบัน พีทีที โออาร์ มีสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น กว่า 2,000 แห่ง ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์
สำหรับธุรกิจก๊าซหุงต้มแอลพีจี จะใช้ความโดดเด่นในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยในการเข้าสู่ตลาด โดยมีเป้าการจำหน่ายที่ 1,000 ตันต่อเดือน นอกจากนี้ จะดำเนินธุรกิจร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีสอดคล้องกับแนวโน้มความนิยมในการบริโภคกาแฟของผู้บริโภคชาวเมียนมาที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 7 สาขา และจะขยายเป็น 100 สาขาภายในปี 66 โดยร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน มีจำนวนกว่า 2,800 สาขา ทั้งในประเทศไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และโอมาน