ROJANA ตั้งเป้าปี 51 ขายที่ดิน 500ไร่/ดึงอีโคคาร์-ชิ้นส่วน-อิเล็คฯซื้อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 7, 2008 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJANA) คาดปี 51 รายได้รวมและกำไรสุทธิเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 50 ที่คาดว่ามีรายได้รวม 7 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมฯ จำนวน 500-600 ไร่ ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมในจีนปีนี้คาดรับรู้รายได้ราว 900-1,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจจำหน่ายน้ำและไฟฟ้าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้ 
ส่วนงบลงทุนปีนี้ตั้งไว้ 2 พันล้านบาทใช้ลงทุนในโครงการต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งการพัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม 1,800 ไร่ เงินลงทุน 500 ล้านบาท และขยายกำลังการผลิตทั้งโรงไฟฟ้า 1 พันล้านบาท รวมถึงการซื้อที่ดินต่อเนื่องนิคมฯเดิม
น.ส.อมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ ROJANA กล่าวกับ "อินโฟเควสท์ "ว่า รายได้จะเติบโตได้อย่างไรขึ้นกับการขายที่ดินได้ตามเป้า คิดว่าการเติบโตคงโตไม่มาก เพราะเห็นว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เสถียรภาพทางการเมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติรอดูสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระทบต่อการลงทุนบ้านเรา เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก แน่นอนว่าเมื่อตลาดใหญ่มีปัญหา ในเอเชียก็อาจมีปัญหาบ้าง เพียงแต่ว่าจะกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีใครคาดเดาได้ถูก ฉะนั้น ปีนี้บริษัททำธุรกิจอย่างระมัดระวัง รวมทั้ง ยังมีเรื่องค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน ที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องอยู่
"รายได้รวมปี 50 น่าจะได้ 7 พันล้านบาท ในปี 51 คาดว่าโตไม่ต่ำกว่า 10% กำไรก็น่าจะโตไปตามรายได้ ปีนี้ก็ยังโอเคสำหรับเรา แนวทางของบริษัทจะไม่ตั้งเป้าไว้สูงๆ เรามองความเป็นไปได้ ส่วน net profit ก็โตไปในแนวทางเดียวกับรายได้" น.ส.อมรา กล่าว
กรณีที่บริษัทพลาดได้งานประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี ไม่ได้มีส่วนกระทบต่อการเติบโตมากนัก เพราะถึงแม้จะได้ไอพีพี รายได้ก็ยังไม่รับรู้ในปีนี้อยู่ดี และยังเชื่อว่าปีนี้กลุ่มบริษัทยังไปได้ แม้จะพบสถานการณ์เลวร้ายอย่างไร ก็ไม่ได้ถูกกระทบอะไรมาก
*หวังอีโคคาร์-ชิ้นส่วน-อิเล็กทรอนิกส์ เป็นลูกค้าใหญ่
น.ส.อมรา กล่าวว่า ในปี 51 บริษัทตั้งเป้าขายที่ดินประมาณ 500-600 ไร่ ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่มียอดขายราว 500 ไร่ โดยขณะนี้มีลูกค้าประมาณ 10 รายที่อยู่ระหว่างเจรจา เป็นลูกค้าเดิมขยายพื้นที่ เช่น ฮอนด้า และยังมีลูกค้ารายใหม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือของลูกค้าเดิม ส่วนใหญ่ก็ยังเน้นลูกค้าจากญี่ปุ่น
บริษัท มองว่า อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนมากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็ก คือ รถยนต์ประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งลูกค้ารายเดิม และรายใหม่ที่เข้ามา
น.ส.อมรา กล่าวว่า แม้ว่านักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัท ไม่กังวลมากกับสถานการณ์การเมืองไทย แต่ก็ยังมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นที่จะเป็นตัวแปร ทำให้นักลงทุนไม่รีบเร่งลงทุน อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่บางอุตสาหกรรม เช่น อีโคคาร์ ไปได้ดี เพราะมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะที่มีตลาดสหรัฐเป็นหล้ก ก็อาจจะยังไม่ขยายการลงทุน
"เราไม่ได้คาดหวังให้ อีโคคาร์เป็น Flagship สิ่งที่ทุกคนคาดหวังคือ อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะตามมา เราก็เช่นกัน เช่น ชิ้นส่วน อะไหล่ เนื่องจากอีโคคาร์ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการประกอบรถยนต์นี้ก็คิดว่าจะต้องเข้ามา และเราเชื่อว่าเราก็คงมีโอกาสในกลุ่มลูกค้าเหล่านั้นมาก"น.ส.อมรากล่าว
*โครงการอสังหาฯที่จีน รับรู้ปีนี้ 900-1 พันลบ.
น.ส.อมรา กล่าวว่า บริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมในประเทศจีนที่ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ขณะนี้มียอดขายแล้ว 40% ของโครงการ ซึ่งจะรับรู้รายได้ประมาณ 900-1000 ล้านบาท หรือ 30-40% จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 3 พันล้านบาท และที่เหลือรับรู้ในปีหน้า
ทั้งนี้ โครงการคอนโดมิเนียมดังกล่าวเป็นอาคาร 54 ชั้น 900 ยูนิตในเมืองฉางโจว ได้รับสิทธิการเช่าที่ดิน 70 ปี ดำเนินการโดย Rojana Property ซึ่ง ROJANA ถือหุ้นทั้ง 100%
ส่วนธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ในปีนี้มีปริมาณผลิตน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 หมื่น ลบ.ม./วัน จากเดิม 4 หมื่น ลบ.ม./วัน และยังขยายโรงไฟฟ้าในส่วนต่อขยายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 265 เมกะวัตต์ จาก 210 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท
ทั้งปี 51 บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน โดยแบ่งเป็นลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 พันล้านบาท, การพัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 1.8 พันไร่ ใช้งบราว 500 ล้านบาท และ ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 200-300 ไร่ คาดว่าใช้เงินราว 100-200 ล้านบาท ปัจจุบันมีแลนด์แบงก์ประมาณ 3 พันไร่เศษ
ROJANA ระบุว่าสัดส่วนรายได้ 60% จะมาจากบริการสาธราณูปโภค และกำไรจากการลงทุนในบมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น(TICON) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 21-22% ส่วนอีก 40% มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มาจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการในจีน ซึ่งทดแทนโครงการเมดิสันที่รับรู้หมดแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ