นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝายกลยุทธ์องค์กร บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) เปิดเผยว่า กระบวนการทำจะทำคำเสนอซื้อหุ้น (Tender offer) ของบง.ศรีสวัสดิ์ (BFIT) ที่เหลืออีก 22% อยู่ระหว่างการเตรียมการและเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
โดยคาดว่าจะได้รับอนุญาตเพื่อตั้งโต๊ะเสนอซื้อหุ้น BFIT ได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยที่ราคาเสนอซื้อในครั้งนี้อยุ่ที่ 18 บาท/หุ้น และคาดว่ากระบวนการทำ Tender Offer หุ้น BFIT ในครั้งนี้จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/62 ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้น BFIT อยุ่ที่ราว 78% โดยบริษัทได้เตรียมเงิน 2 พันล้านบาท ซึ่งมาจาการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อให้รองรับการทำ Tender Offer ในครั้งนี้ ส่วนแผนการนำหุ้น BFIT ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นยังไม่ได้มีการเตรียมการ เพราะยังรอให้กระบวนการทำ Tender Offer แล้วเสร็จก่อน
นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมที่จะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในปลายเดือนมิ.ย. เพื่อใช้รองรับการขยายกิจการในการขยายพอร์ตสินเชื่อ และในช่วงไตรมาส 3/62 หรือไตรมาส 4/62 ก็วางแผนที่จะออกหุ้นกู้อีก 1 ชุด วงเงิน 3-4 พันล้านบาท เพื่อใช้ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ และใช้คืนหนี้สถาบันการเงินที่บริษัทได้กู้ยืมมาเพื่อซื้อหุ้นของ BFIT ส่วนในแง่ของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 เท่า จากปัจจุบันอยุ่ที่ 1.4 เท่า
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/62 บริษัทคาดว่าจะเติบโตกว่าไตรมาส 1/62 และไตรมาส 2/61 โดยที่แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อยังมีการเติบโตขึ้น แม้ว่าในไตรมาส 2/62 จะมีวันหยุดมาก แต่ความต้องการใช้สินเชื่อยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ผลการดำเนินงานและสินเชื่อยังเห็นการขยายตัวได้ และบริษัทยังมั่นใจว่าสินเชื่อของบริษัทในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 20-30%
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทในสิ้นปีนี้จะควบคุมให้อยู่ในช่วง 3-5% โดยที่แนวโน้มของ NPL ในไตรมาส 2/62 บริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ 4.33% ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/62 โดย NPL ในระดับดังกล่าวถือว่าเป็นระดับปกติของธุรกิจ ประกอบกับบริษัทคาดว่าจะไม่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น หลังมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 63 ซึ่งยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากปัจจุบันยังมีสำรองส่วนเกินระดับสูงที่มีจำนวน 386.5 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทได้เตรียมงบลงทุนด้านระบบไอที 200-300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบ และรองรับการทดลองปล่อยสินเชื่อดิจิทัลในช่วงไตรมาส 3/62 และเตรียมวงเงินสำหรับปล่อยกู้ประเภทดังกล่าวไว้เบื้องต้น 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทดลองตลาด และหากได้รับการตอบรับที่ดีก็จะขยายวงเงินเพิ่มขึ้นในเฟสต่อไป พร้อมเตรียมงบเพื่อซื้อหนี้จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารไว้ 2-3 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถซื้อมูลหนี้มาบริหารได้ทั้งหมด 7,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 20-30% ในช่วง 3 ปี