นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เน็ตเบย์ (NETBAY) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาระบบโปรแกรมการยื่นคำคู่ความผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Mini e-court ให้กับศาลแพ่ง โดยยึดหลักการพัฒนาระบบที่ประชาชนและคู่ความเป็นศูนย์กลาง ซึ่งให้มีการดำเนินคดีที่สะดวก รวดเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามระบบออนไลน์ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน และช่วยลดขั้นตอนการพิจารณาคดีให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยนอกเหนือจากการพัฒนาระบบให้กับศาลแพ่งแล้ว บริษัทฯ ก็มีแผนที่จะขยายการพัฒนาระบบดิจิทัล แพลตฟอร์ม กับหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง
ด้านนายวัชระ เนื่องสิกขาเพียร ผู้พิพากษาประจำศาลช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง กล่าวว่า จากการที่ศาลยุติธรรมวางเป้าหมายการพัฒนาให้เป็น D-Court (Digital Court) ในปี 2563 ศาลแพ่งได้ปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นศาลยุติธรรมดิจิทัล โดยการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนให้ได้รับความสะดวก ด้วยการนำเทคโนโลยีและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการทำงาน การพิจารณาและพิพากษาคดี
ศาลแพ่งก็ได้ร่วมมือกับทางเน็ตเบย์ ในการพัฒนาโปรแกรม Mini e-court ซึ่งเบื้องต้นจะใช้ในคดีผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 10 ล้านบาท ประเภท ซื้อขาย, เช่าทรัพย์, เช่าซื้อ, กู้ยืมเงิน, ค้ำประกัน จำนอง จำนำ และบัตรเครดิต รวมถึงใช้ในคดีการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีของศาลแพ่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้มีการใช้ระบบดังกล่าวดำเนินการในคดีไปแล้วจำนวน 16 คดี โดยมีเป้าหมายเพิ่มประเภทคดีให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากปัจจุบันมีคดีโดยรวมในขณะนี้จำนวน 2 ล้านคดี โดยคิดเป็นดคีแพ่งจำนวนครึ่งหนึ่ง หรือ 1 ล้านคดี