นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าในปีนี้ผลประกอบการในปี 62 จะยังคงทำกำไรสุทธิได้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หลังจากที่บริษัทพยายามบริหารควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน และลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ โดยจะมีการเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 62 อีกครั้ง หลังจากที่ไม่มีการจ่ายปันผลมาติดต่อกันถึง 3 ปี แล้ว
บริษัทยังคงมั่นใจรายได้ปีนี้จะเติบโต 20% ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ราว 400 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากกว่าช่วงปีที่ผ่าน ๆ มาที่มี Backlog ราว 300 ล้านบาท โดยจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ ขณะที่งานประมูลใหม่ ๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนจะยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการเข้ารับงานที่มีมาร์จิ้นสูงเป็นหลัก
ในขณะเดียวกันปี 62 บริษัทจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเสนอขายลูกค้าได้แก่ ระบบ Smart City ซึ่งจะเป็นการจำหน่ายด้วยระบบโซลูชั่น ด้วยการนำการให้บริการหลายประเภทมารวมกัน เช่น เครื่องมือตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ เครื่องมือตรวจค่าความเข้มข้นของฝุ่น และระบบสัญญาณโทรศัพท์ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมการเติบโตของผลประกอบการอีกทางหนึ่ง
แม้ธุรกิจในกลุ่มจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ PlanetComm ต่าง ๆ มีการแข่งขันกันสูง แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจรที่มีอย่างยาวนาน ทำให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศยังคงให้ความไว้วางใจ
"การได้รับฐานลูกค้าใหม่ ๆ ของบริษัทถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น ดูได้จากในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทมีการเซ็นสัญญาทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะเป็นงานที่มีมูลค่าไม่สูงมาก แต่เมื่อรวม ๆ หลายโครงการ ตัวเลขก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ อาทิ งานให้บริการบำรุงรักษาระบบประชุมทางไกล (Video Conference) และบำรุงรักษารถโมบายสื่อสารโทรคมนาคม ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เป็นต้น และล่าสุด บริษัทเพิ่งได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายสินค้า กับกิจการร่วมค้า บลิสแพลนเน็ต โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ให้กับกิจการร่วมค้า บลิสแพลนเน็ต ในโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) กลุ่มที่ 2 ภาคเหนือ 2" นายประพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 64 บริษัทจะมีสัดส่วนรายได้แบบประจำ อยู่ที่ราว 42% จากปัจุบันอยู่ที่ 34% โดยเป็นผลมาจากกลุ่มธุรกิจ แพลนเน็ตไฟเบอร์ด้วยการให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ตามอาคาร คอนโดมิเนียม และโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการแล้วกว่า 68 อาคาร คิดเป็นจำนวนห้องให้บริการอยู่ที่ 42,092 ห้อง และคาดในสิ้นปีจะให้บริการครบตามเป้าหมาย 79 อาคารหรือประมาณ 48,579 ห้อง
ประกอบกับกลุ่มธุรกิจแพลนเน็ตคลาวด์ โดยจะเป็นรูปแบบการให้บริการระบบสำนักงานอัจฉริยะ เช่น ระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพบนระบบคลาวด์ และการจัดหาอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่บนคลาวด์ อีกทั้งจะให้บริการบันทึก และวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิด โดยกลุ่มลุกค้าจะเป็นองค์กรรัฐ และเอกชน
นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า การขยายฐานลูกค้าไปต่างประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นมาก โดยภายในปีนี้มีโอกาสสูงที่จะสามารถส่งมอบงานเกี่ยวกับการสื่อสารควบคุมการจราจรทางอากาศ มูลค่า 24 ล้านบาท หลังจากได้มีการเซ็นสัญญาและดำเนินการติดตั้งให้กับหน่วยงานด้านการบินในประเทศเมียนมาไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีงานติดตั้งระบบการสื่อสารดาวเทียมในประเทศแถบยุโรป ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้