ทิสโก้ มองตลาดหุ้นมีแนวโน้มลดลงจากสงครามการค้ายืดเยื้อ-เฟดอาจปรับดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด-ศก.ถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 17, 2019 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยในรายการ "LIVE with Guru เจาะลึกกับผู้รู้เรื่องการลงทุน" ในเพจเฟซบุ๊ก TISCO Mastery ว่า ภายหลังการพบปะกับนักลงทุนสถาบันพบว่า 3 ปัจจัยหลักที่นักลงทุนสถาบันยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่คาดเดาได้ยาก จึงประเมินว่าจะส่งผลให้หุ้นทั่วโลกผันผวนตลอดทั้งปี ดังนั้น ในจังหวะที่หุ้นปรับเพิ่มขึ้นแนะนำให้ทยอยขายหุ้นออก และถือเงินสดรอซื้อกลับเมื่อราคาหุ้นลดลง

สำหรับรายละเอียดของประเด็นที่นักลงทุนสถาบันจับตา ประเด็นแรก คือ ความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลี ซึ่งปัจจุบันนักวิเคราะห์หลายแห่งยังไม่ได้ประเมินถึงผลกระทบเชิงลบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนยังไม่ได้ประเมินถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"เบื้องต้น TISCO ESU มองว่า มีโอกาสถึง 60% ที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 25% สำหรับสินค้าบางรายการที่อยู่ในกลุ่ม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนสามารถติดตามความชัดเจนอีกครั้งในระหว่างการประชุม G20 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ ขณะที่การเจรจาเรื่องภาษีนำเข้ารถยนต์กับประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลีก็มีโอกาสยืดเยื้อ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของทั้งสามประเทศ" นายคมศร กล่าว

ประเด็นต่อมา คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ปัจจุบันนักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2562 - 2563 ซึ่ง TISCO ESU มองว่า เฟดจะปรับลดได้มากสุดแค่ 2 ครั้งเท่านั้น นักลงทุนควรติดตามการประชุมเฟดในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ว่าเฟดจะมีท่าทีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหรือไม่ หากแสดงท่าทีลดดอกเบี้ยไม่มากตามที่นักลงทุนคาด อาจทำให้หุ้นทั่วโลกรวมทั้งหุ้นไทยปรับลดลงจากความผิดหวังได้

ประเด็นสุดท้าย คือ เศรษฐกิจทั่วโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในช่วงต้นปีหรือกลางปี 2563 หลังตัวเลขและเครื่องมือด้านเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณในเชิงลบ เช่น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นมาเพียง 75,000 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าปกติที่ต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 แสนตำแหน่งต่อเดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 เดือน สะท้อนถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าบริการที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน เพราะได้รับปัจจัยบวกจากความคาดหวังว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้ราคาหุ้นหลายตลาดเริ่มแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ซึ่งตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีระดับพี/อี ที่ 14 เท่า ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่อยู่ในระดับ 11-12 เท่า

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศไทยฝากความหวังไว้ที่การบริโภคภายในประเทศ แต่ยังต้องติดตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐฯ ที่ยังต้องรอการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีมาอนุมัติโครงการ รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่อาจส่งผลให้การบริโภคในประเทศอาจเติบโตไม่ได้มากนัก ขณะที่การส่งออกน่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงประเมินว่าโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับขึ้นแรงต่อจากนี้เริ่มมีแนวโน้มลดลง และจะผันผวนในกรอบกว้าง

สำหรับคำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนนั้น ในกลุ่มนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ 50% หุ้น 20 - 25% โดยเน้นหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ตามเมกะเทรนด์ของสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นทั่วโลก และข้อดีของหุ้นกลุ่มนี้คือแนวโน้มกำไรเติบโตสม่ำเสมอในช่วงสภาวะเศรษฐกิจหดตัว ส่วนนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นไทย แนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นปันผลเป็นหลัก สุดท้ายที่เหลืออีก 25-30% แนะนำให้ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) หรือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ตามเมกะเทรนด์การขยายตัวของความเป็นเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ