โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" PTTEP ขานรับซื้อพอร์ตสินทรัพย์ Partex ในตะวันออกกลาง-FID แหล่งโมซัมบิก ,ราคาน้ำมันฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 20, 2019 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จากแผนการเข้าซื้อกิจการต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโต ล่าสุดมีแผนเข้าซื้อกิจการ Partex ที่มีสัดส่วนลงทุนแหล่งปิโตรเลียม 7 โครงการ ครอบคลุม 5 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลาง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาส 4/62 แม้อาจสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้กับ PTTEP ค่อนข้างจำกัด แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสขยายฐานไปสู่ตะวันออกกลาง ซึ่งมีแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูง รวมถึงช่วยเพิ่มปริมาณสำรองให้มากขึ้น ขณะที่การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) พัฒนาแหล่งโมซัมบิกซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 67 ก็จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาว

ด้านทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากคลายกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และการเก็งกำไรก่อนการประชุมโอเปกและพันธมิตร ที่คาดว่าจะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในหุ้น PTTEP ที่ยังมี Upside ค่อนข้างมาก ประกอบกับ PTTEP ยังให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend yield) ในระดับที่น่าสนใจ

หุ้น PTTEP พักเที่ยงอยู่ที่ 133.50 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือ 1.52% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.71%

          โบรกเกอร์                       คำแนะนำ               ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ทิสโก้                             ซื้อ                       148.00
          ไทยพาณิชย์                         ซื้อ                       154.00
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ                   ซื้อ                       150.00
          บัวหลวง                           ซื้อ                       157.00
          เอเซีย พลัส                        ซื้อ                       166.00
          เคทีบี (ประเทศไทย)                 ซื้อ                       139.00
          ฟินันเซีย ไซรีส                      ซื้อ                       160.00
          เคที ซีมิโก้                       Outperform                 145.00
          กสิกรไทย                        Outperform                 148.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)             Trading Buy                138.00

นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า การลงทุนสำหรับหุ้น PTTEP นอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายความกังวลของสงครามการค้าแล้ว การที่ PTTEP มีดีลการซื้อกิจการต่อเนื่องหลังเมื่อเดือนมี.ค.ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการ Murphy Oil Corporation ในมาเลเซีย ด้วยมูลค่า 2,127 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในมิ.ย.จะช่วยหนุนปริมาณขายเพิ่มขึ้นแล้ว และล่าสุดประกาศซื้อกิจการ Partex Holding B.V. (Partex) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมในตะวันออกกลาง ด้วยมูลค่าราว 622 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 4/62 จะช่วยเพิ่มรายได้และปริมาณการผลิตปี 63 ให้แก่ PTTEP อีกราว 5% จากกำลังการผลิตปัจจุบัน

"เรามีมุมมองบวกต่อการเข้าซื้อ Partex ครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของ PTTEP ที่นอกเหนือจากการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังมีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นเป้าหมายสำคัญด้วย เพราะโครงการลงทุนหลักของ Partex จะอยู่ในโอมานและยูเออี ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของแต่ละประเทศ แม้ Partex จะเป็นผู้ถือสัดส่วนในแต่ละโครงการเพียง 1-2% แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ PTTEP จะเข้าไปต่อยอดการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มเติมทั้งในโอมานและยูเออีในระยะยาวมากกว่า"นางสาวนลินรัตน์ กล่าว

นางสาวนลินรัตน์ มองว่าผลตอบแทนจากการลงทุนใน Partex อาจจะไม่สูงมากนักอยู่ที่ราว 6% เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ของโครงการปิโตรเลียมขั้นต้นที่จะอยู่ระดับ 10-15%และโครงการขั้นกลางอยู่ที่ราว 7-8% เนื่องจากเงินลงทุนในการซื้อกิจการครั้งนี้ที่ 622 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กำไรของ Partex จะปรับตัวตามทิศทางราคาน้ำมันที่เบื้องต้นคาดว่าปีนี้จะทำกำไรได้กว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 2-3% ของกำไรปี 61 ของ PTTEP

อย่างไรก็ตามล่าสุด PTTEP ยังได้ร่วมประกาศ FID ในการพัฒนาโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ที่ถือสัดส่วน 8.5% ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) ให้กับ PTTEP ตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 140 ล้านบาร์เรล ขณะที่หุ้น PTTEP ยังมี Upside สูงกว่าราคาเป้าหมาย และยังให้ dividend yield สม่ำเสมอราว 4% ต่อปีด้วย

ด้านบทวิเคราะห์บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อการซื้อกิจการ Partex ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดโอกาสเข้าสู่ตะวันออกกลาง เนื่องจากจะช่วยให้ PTTEP พัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาล และผู้ดำเนินโครงการปิโตรเลียมระดับโลก เช่น เชลล์ ,โททาล ,รัฐบาลโอมาน อีกทั้งสินทรัพย์ของ Partex สามารถสร้างรายได้ และปริมาณสำรองทันที เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีการผลิตแล้ว และคุณภาพดี ซึ่งยังสามารถผลิตได้อีกหลายปี

ด้านมูลค่าซื้อขายเหมาะสม คิดเป็นอัตราส่วน EV/2P reserve ที่ 9.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่หากหักมูลค่าธุรกิจกลางน้ำ ซึ่งเป็นโรงงานก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วยต้นทุน 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน จะทำให้ได้สัดส่วน EV/2P reserve จะเหลือ 7.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใกล้เคียงการซื้อกิจการ Murphy Oil

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นธุรกรรมช่วงไตรมาส 4/62 คาดปริมาณขายปิโตรเลียมของ PTTEP ในปี 63-66 จะเพิ่มขึ้นจากสมมติฐานเดิม 14,500-16,000 บาร์เรล/วัน และปริมาณสำรอง P2 จะเพิ่มขึ้น 65 ล้านบาร์เรล ภายใต้สมมติฐานราคาขายน้ำมัน 62-64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และต้นทุนผลิต 32.0-32.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

หยวนต้าฯ คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 63-66 จะเพิ่มขึ้น 7.9-8 พันล้านบาท/ปี หรือ 6-7% ของคาดการณ์เดิม และกำไรจะเพิ่มขึ้น 1.1-1.2 พันล้านบาท/ปี หรือราว 3% จากคาดการณ์เดิม ประเมินราคาเหมาะสมส่วนเพิ่มจากการซื้อกิจการนี้ 4 บาท/หุ้น

อย่างไรก็ตามทางพื้นฐานยังคงราคาเหมาะสม 138 บาท ซึ่งไม่รวม Upside จากการซื้อกิจการนี้ และ Murphy รวม 5-8 บาท/หุ้น โดยยังคำแนะนำ "เก็งกำไร" รับการฟื้นตัวจากราคาน้ำมันในระยะสั้น หลังมีประเด็นหนุนจากเหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งน้ำมันบนอ่าวโอมาน และการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ในต้นก.ค.นี้ , Catalyst จากการ FID โครงการโมซัมบิก, และ Upside การแผนธุรกิจเชิงรุกทั้ง Murphy และ Partex

บทวิเคราะห์บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่ามีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยสำหรับการเข้าซื้อ Partex ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นได้ราว 5% จากกำลังการผลิตของ PTTEP ที่เฉลี่ยประมาณ 320,000 บาร์เรล/วัน และเป็นไปตามกลยุทธ์ที่จะสามารถขยายและต่อยอดธุรกิจในแถบตะวันออกกลางในอนาคต หลังจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา PTTEP ชนะการประมูลในการสำรวจแหล่งก๊าซฯในยูเออี สำหรับราคาที่ซื้อนั้นอยู่ในระดับปานกลาง EV/Reserve ที่ 9.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับ Range M&A ปกติอยู่ราว 7-15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งยังสามารถสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่เป็นบวกได้ โดยประเมิน NPV ต่อหุ้นได้ 1-2 บาท/หุ้น

นอกจากนี้ยังมีมุมมองเป็นบวกสำหรับโครงการโมซัมบิกนี้ ด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ทำให้เชื่อว่าจะสามารถสร้าง NPV ที่เป็นบวกได้ ปัจจุบัน PTTEP มีสัดส่วนในการถือหุ้นในโมซัมบิกอยู่ราว 8.5% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง PTTEP มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท เพียงพอที่จะลงทุน ในระยะสั้นยังไม่มีผลต่อประมาณการ โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 67

เคทีบีฯ ระบุอีกว่าทิศทางราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้น จากคาดการณ์ความต้องการใช้ที่ดีขึ้นจากปัญหาสงครามการค้าที่ผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น หลังผู้นำของจีนและสหรัฐเตรียมจะพบกันในการประชุมนอกรอบ G20 และจากความเสี่ยงด้านปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความตึงเครียดที่กำลังก่อตัวขึ้นในคาบสมุทรอาหรับ ทำให้ชอบ PTTEP มากที่สุดเพราะได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันที่น่าจะปรับขึ้นได้ต่อ และยังมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวจากการซื้อกิจการที่ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ