นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทคาดดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นราว 1 เดือนนี้ น่าจะยังคงปรับตัวขึ้นได้ โดยให้แนวต้านที่ 1,750 จุด และมีแนวรับที่ 1,630 จุด หลังจากการส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีปรับตัวลดลง เห็นได้จากในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา Yield curve ลดลง 50-60 bp และได้ปรับตัวลงต่ำกว่า 2% เป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้
"ในภาพใหญ่มุมมองที่เราให้ไป ตราบใดที่ในระยะสั้นนี้การลดลงของดอกเบี้ยยังคงอยู่ ตลาดฯ ก็ยังมีมุมมองที่เป็นบวก ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นค่อนข้างไว ขณะเดียวกันในส่วนของตลาดหุ้นไทย การลดลงของ Yield Gap 40 bp จากต้นเดือน พ.ค.ถึงปัจจุบันจะส่งผลกับดัชนีปรับตัวขึ้น 100 จุด"นายภาสกร กล่าว
นายภาสกร กล่าวว่า การลดลงของดอกเบี้ยของสหรัฐยังจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดหุ้นมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3/62 โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่นดีขึ้น 40 bp ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่จะมีการพบกันนอกรอบการประชุม G20 ในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายก็คาดหวังว่าจะออกมาเป็นบวก
ขณะที่ปัจจัยการเมืองไทย อยู่ระหว่างรอนโยบายที่จับต้องได้ของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอย่างแรก ๆ น่าจะเป็นมาตรการเร่งด่วน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การช่วยเหลือภาคเกษตร ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นรอบต่อไป เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการค่อนข้างมาก โดยก็ต้องติดตามดูว่าจะมีมาตรการมาบรรเทาหรือไม่ ซึ่งหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ คือ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และหุ้นที่จะได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มรับเหมา, สถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากมีการพึ่งพาแรงงาน
พร้อมกันนี้ แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จากได้รับอานิสงส์การบริโภคในประเทศที่ดีขึ้น หากรัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโอกาสที่จะออกจากวงจรหนี้เสีย (NPL) มีมากขึ้น รวมถึง valuation ไม่แพง โดยแนะนำธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ส่วนกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน คือ กลุ่มโรงพยาบาล จากประเด็นเรื่องของราคายาที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ขณะที่กองทุนยังชอบกลุ่มโรงไฟฟ้า, โครงสร้างพื้นฐาน, กลุ่มรับเหมาฯ , CPALL, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE )
ด้านนายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับทิศทางการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี มีมุมมองเป็นกลางสำหรับกลุ่มพลังงาน และค่อนข้างเป็นลบในกลุ่มปิโตรเคมี เนื่องจากเชื่อว่าอุตสาหกรรมจะเข้าสู่วัฏจักรขาลงภายใน 2 ปีข้างหน้า
หุ้นที่แนะนำการลงทุนจะเป็นหุ้นในกลุ่มต้นน้ำ อย่าง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ( PTTEP) เนื่องจากมองว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) น่าจะปรับลดปริมาณการผลิตในการประชุมต้นเดือน ก.ค. ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันยืนได้ในระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และเริ่มรับรู้กำไรเข้ามาในครึ่งปีหลัง ทำให้ความเสี่ยงของผลประกอบการมีน้อยกว่าหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี อีกทั้งผลประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองให้กับบริษัท รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จะช่วยให้มูลค่าหุ้นปรับตัวขึ้นต่อได้
นอกจากนี้ กลุ่มโรงกลั่น มองปัจจัยของการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) จะช่วยให้มีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 3 ล้านบาร์เรล/วัน และส่งผลให้ค่าการกลั่นปรับตัวขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องระวังในช่วงสั้น เนื่องจากผลประกอบการในไตรมาส 2/62 ยังค่อนข้างอ่อนแอ จากค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับต่ำ และด้วยระดับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาในไตรมาสแรกก็อาจจะทำให้หุ้นในกลุ่มโรงกลั่นยังคงมีขาดทุนสต็อกเกิดขึ้นได้ และฉุดผลประกอบการลง แต่ก็คาดหวังว่าจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้ยังคงทำแนะนำ"ซื้อ" สำหรับบมจ.ไทยออยล์ (TOP) และเพิ่มคำแนะนำของหุ้นบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) จากเดิม"ถือ" เป็น"ซื้อ" หลังปรับตัวลงไปเทรดต่ำกว่า 1 เท่าบุ๊ค
ขณะที่หุ้นกลุ่มปิโตรเคมี มองจะมีซัพพลายใหม่ทยอยเข้ามา โดยใน 3 ปีข้างหน้า ในกลุ่มโอเลฟินส์จะมีซัพพลายใหม่เข้ามาประมาณ 26 ล้านตัน เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ที่เติบโตประมาณปีละ 6 ล้านตัน ซึ่งทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย โดยการโอเวอร์ซัพพลายจะปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ downside ครั้งก่อน ทำให้ส่วนต่างราคาปรับตัวลดลงมา สะท้อนให้เห็นว่าอัตรากำไรจะอ่อนตัวลงสู่จุดต่ำในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจุดต่ำสุดของวัฏจักรขาลงของโอเลฟินส์ในครั้งนี้จะมาพร้อมกันขาลงของอุตสาหกรรมอะโรเมติกส์
ดังนั้น จึงแนะให้ระมัดระวังลงทุนในกลุ่มปิโตรเคมี แต่ในช่วงสั้นนี้ยังได้รับผลดีจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเลือกหุ้นบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม จากมีความเสี่ยงต่อผลตอบแทนที่น่าดึงดูด และมี downside ที่ค่อนข้างจำกัด หลังมีโครงการซื้อหุ้นคืน