บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดในงวดปี 63/64 (ต.ค.63- ก.ย.64) กำไรกระโดดเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาท จากงวดปี 60/61 (ต.ค.60-ก.ย.61) มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 1.5 หมื่นล้านบาท หลังจากกลุ่มคิงเพาเวอร์ ได้เสนอรายได้ขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ทั้ง 3 สัญญา (ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ -พื้นที่เชิงพาณิชย์ สุวรรณภูมิ-ดิวตี้ฟรี ของ 3 สนามบินภูมิภาค) รวม 2.35 หมื่นล้านบาท จากในงวดปี 62/63 คาดจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก 3 สัญญาดังกล่าว ประมาณ 8.8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกิจการที่เพิ่มรายได้ใหม่อีก 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองการบิน (Airport City), ศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) และ การให้บริการ การพาณิชย์ และการบริหารงานภายในองค์กร รวมถึงการเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรอื่นให้อยู่บนโลกเสมือนจริง (Digital Platform) ที่จะทำรายได้หลักหมื่นล้านบาทในระหว่างงวดปี 61/62 ถึงงวดปี 62/63
ส่วนเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ในสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าเปิดประมูลได้ในเดือนธ.ค.62 - ต้นปี 63 ที่จะเปิดเสรี ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้เคยมีมติไว้
ขณะที่ผลประกอบการในงวดปี 61/62 (ต.ค.61-ก.ย.62) คาดว่ากำไร (ไม่นับรวมรายการพิเศษ) จะทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง จากงวดปีก่อนที่มีกำไรสุทธิสูงสุดประวัติการณ์ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท แม้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี จะมีจำนวนผู้โดยสารเติบโตเพียง 1.8% ซึ่งน้อยกว่าคาดก็ตาม
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ว่า จากที่บริษัทเปิดประมูลการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยการเสนอรายได้ขั้นต่ำรายปี อยู่ที่ 1.54 หมื่นล้านบาท/ปี , การบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอรายได้ขั้นต่ำรายปี อยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท/ปี และ การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยการเสนอรายได้ขั้นต่ำรายปี อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท/ปี รวมทั้ง 3 สัญญา บริษัทจะมีรายได้ขั้นต่ำรายปี 2.35 หมื่นล้านบาท/ปี หรือเก็บจากผลตอบแทนรายเดือน 20% ของยอดรายได้สำหรับดิวตี้ฟรี และ 15% ของยอดรายได้สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ โดยปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และ อัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารของแต่ละปี
ดังนั้น ทำให้ AOT จะรับรายได้จาก 3 สัญญาดังกล่าวรวมวงเงินที่คาดได้รับผลตอบแทนขั่นต่ำปีละ 2.35 หมื่นล้านบาท ในงวดปี 63/64 (ต.ค.63-ก.ย.64)เพิ่มขึ้น 3 เท่าหรือมีส่วนต่างประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จากงวดปี 60/61 (ต.ค.60-ก.ย.61) ได้รับรายได้ 8.2 พันล้านบาท งวดปี 61/62 (ต.ค.61-ก.ย.62) คาดได้รับ 8.4 พันล้านบาท และ งวดปี 62/63 (ต.ค.62-ก.ย.63) คาดได้รับเงิน 8.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทั้ง 3 สัญญาใหม่จะมีระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน หรือ เวลาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.63 ถึงวันที่ 31 มี.ค.74
นายนิตินัย กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ สามารถเสนอผลตอบแทนในสัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารสนามบินสุวรรณภูมิ ให้บริษัทได้สูงขึ้นจากเดิมมากเมื่อเทียบกับรายอื่น เพราะกลุ่มคิงเพาเวอร์ เห็นว่าพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิขยายจากเดิมที่มีเพียงอาคารผู้โดยสารที่มีพื้นที่ 5 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) แต่ในปี 63 จะมีอาคารเทียบเครื่องบิน หลังที่ 1 (Satellite Terminal) ที่จะสร้างเสร็จในเดือนเม.ย.63 และทดสอบระบบ 6 เดือนก่อนเปิดให้บริการ โดยมีพื้นที่ 2.5 แสนตร.ม. และมี 28 หลุมจอด ซึ่ง slot เที่ยวบินก็เพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นด้วย และจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน ทำให้อัตราผลตอบแทนที่กลุ่มคิงเพาเวอร์เสนอเข้ามาสูงกว่ารายอื่นเกือบเท่าตัว และสูงจากเดิม
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจุบันอยู่ที่ 64 ล้านคน เกินขีดความสามารถรองรับของอาคารผู้โดยสารที่รองรับได้ 45 ล้านคน แต่เมื่อมีอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 แล้ว AOT มองว่า จำนวนผู้โดยสารน่าจะเพิ่มเข้ามาอีก 15-30 ล้านคน
ส่วนการเปิดประมูล Duty Free Pick-up Counter ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น คาดว่าจะสามารถออกทีโออาร์ในธ.ค.62 และคาดได้ผู้ชนะในช่วงต้นปี 63 โดยขณะนี้ บริษัทกำลังวิเคราะห์ว่ารูปแบบที่เหมาะสมอยู่
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ในช่วงจากนี้ถึงงวดปี 62/63 บริษัทยังมีรายได้ใหม่เข้ามาจากโครงการ Airport City ทั้งภายในสนามบินสุวรรณภูมิและพื้นที่ใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภุมิ , Certify Hub และ Digital Platform ที่ได้ปรับปรุงรูปแบบของทั้ง 6 สนามบิน โดยคาดว่าจะมีรายได้เข้ามาหลักหมื่นล้านบาท
สำหรับผลประกอบการในงวดปี 61/62 (สิ้นสุด ก.ย.62) นายนิตินัย คาดว่าจะยังสามารถทำกำไรสูงขึ้นอีกครั้ง จากงวดปี 60/61 ที่ทำนิวไฮแล้วที่ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยกรณีดังกล่าวยังไม่นับรวมการสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มตามกฎหมายแรงงานใหม่ ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชีจะเติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าคาด โดยยอดผู้สารในประเทศลดลง 0.8% แต่ผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มขึ้น 3.7% ก็ทำให้ไม่กระทบต่อรายได้มากนัก เพราะรายได้ผู้โดยสารต่างประเทศอยู่ที่ 700 บาท/หัว สูงกว่ารายได้ผู้โดยสารในประเทศที่อยู่ระดับ 100 บาท/หัว ซึ่งผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพราะสายการบินได้ปรับเปลี่ยนเที่ยวบินในประเทศมาบินในเส้นทางต่างประเทศมากขึ้น
"ที่ดอนเมือง แอร์ไลน์ปรับมาบินเป็น inter มากขึ้น ก็ปรับมา 2 ปีแล้ว ก็ทำให้รายได้เราไม่ทรุดมาก ตัวเลข 6 เดือนแรกโตเนิบๆ ผู้โดยสารโตน้อย คิดว่าปีนี้กำไร ไม่รวมรายการพิเศษน่าจะทำ record high ได้" นายนิตินัย กล่าว
ปัจจุบัน AOT บริหาร 6 ท่าอากาศยาน ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, หาดใหญ่, เขียงใหม่ และ เขียงราย