นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมงบลงทุนราว 3 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเกิดโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เฟสแรก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ที่มีอยู่ราว 3,500 ไร่ ในจ.ระยอง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตของเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ทั้งนี้ คาดว่าการพัฒนาพื้นที่ EECi ในเฟสแรก ที่ประกอบด้วย 3 โซน จะเห็นผลได้ใน 10 ปีข้างหน้า หลังจากปัจจุบันปตท.อยู่ระหว่างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 63 และมีลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ในเขต Innovation Zone บ้างแล้ว ทั้งในส่วนของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่เช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre:PTIC) คาดว่าจะเสร็จปี 63 และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 63-64
นอกจากนี้ในต้นเดือนก.ค. ปตท.เตรียมลงนามให้เช่าใช้พื้นที่กับบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพื่อทำโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟลอยน้ำ ขนาดรวมประมาณ 2 เมกะวัตต์ และเร็ว ๆ นี้ สวทช.ก็น่าจะเช่าพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับกลุ่ม Synchrotron ที่มีความต้องการพื้นที่ราว 200 ไร่ รวมถึงปตท.ก็มีความร่วมมือด้านต่างๆกับกลุ่มจีอี จากสหรัฐ และในท้ายสุดก็อยากให้จีอีเข้ามาตั้ง global research center ใน EECi และยังได้ลงนามความร่วมมือกับหัวเว่ย เพื่อจะนำเทคโนโลยีมาใช้และจะทำแผนงานร่วมกันในรูป Innovation Campus ของหัวเว่ยใน EECi เป็นต้น
นางหงษ์ศรี กล่าวว่า เขต Innovation Zone เป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ EECi เฟสแรก โดยในส่วนของ Education Zone ปตท.ได้มีการลงทุนมาแล้วก่อนหน้านี้ราว 1 หมื่นล้านบาทในการจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation System)
สำหรับเขต Community Zone จะมีทั้งหมดประมาณ 100 ไร่ ปตท.ก็เตรียมจะเปิดให้เชผู้ที่สนใจเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม และคอมมูนิตี้มอลล์ โดยคาดว่าจะเปิดร่างเอกสารเชิญชวนประมูลสำหรับการเช่าพื้นที่ สัญญาประมาณ 30 ปี เพื่อทำโรงเรียนนานาชาติก่อนในช่วงไตรมาส 3/62 หลังจากนั้นจะทยอยเปิดการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป เพื่อให้แล้วเสร็จตั้งแต่ในช่วงปี 63-65
"การพัฒนาพื้นที่ EECi ของปตท.ในเฟสแรก คาดว่าจะเห็นชัดเจนใน 10 ปีจากที่เราเริ่มในปี 61 โดยปี 64 จะเป็นจุดเริ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของ EECi"นางหงษ์ศรี กล่าว
ด้านนายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ของ ปตท. เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของกลุ่มปตท. นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) ทำให้ปตท.ต้องปรับตัวรับกับกระแสดังกล่าว โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเอง รวมถึงการมองโอกาสที่จะนำผลงานวิจัยที่มีการศึกษาแล้ว นำมาพัฒนาลงทุนเพื่อนำผลงานออกสู่ตลาด โดยยังเน้นในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและก๊าซฯ
ทั้งนี้ ปตท.จะให้ความสนใจไปที่ 5 เมกะเทรนด์ ได้แก่ Industralization & Urbanization ที่จะมุ่งไปที่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) , Aging Society ด้วยการสร้างเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) การสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Well-Being Business) Disruptive Tech.&Greater Global Interconnection ด้วยการสร้าง Intelligent Solution Business , Mobility Revolution ด้วยการสร้าง Smart Vehicle Business และ Resource Stress ด้วยการมองการโอกาสในการสร้างธุรกิจการบริหารจัดการทรัพยากร เป็นต้น
นายวิทวัส กล่าวอีกว่า ปัจจุบันปตท.ยังมีการลงทุนในรูปแบบสตาร์ทอัพ (Startup) Corporate Venture Capital (CVC) ซึ่งนอกเหนือจะได้รับตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ก็ยังมีโอกาสต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ในอนาคตด้วย โดยในช่วง 2 ปีนี้ได้ลงทุนแล้ว 7 กองทุน และอีก 2 สตาร์ทอัพ
นอกจากนี้จะพัฒนาสถาบันนวัตกรรมของปตท.ที่วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสตาร์ทอัพด้วย