โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) พร้อมปรับราคาเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้น 13.50 -15 บาท หลังจากที่กลุ่มคิงเพาเวอร์เสนอผลตอบแทนในการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาค จ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ปีแรกรวม 2.35 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีปัจจุบันที่มีขั้นต่ำ 7.57 พันล้านบาท
แต่ผลตอบแทนดังกล่าวจะเข้ามาในปี 64 (ต.ค.63-ก.ย.64) โดยคาดว่ากำไรสุทธิของ AOT ในปีดังกล่าวจะอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท จากปี 62 และ 63 ยังคงประมาณกำไรสุทธิที่ 2.6 หมื่นล้านบาท และ 2.8 หมื่นล้านบาทตามลำดับ
นอกจากนี้ AOT ยังมี upside จากการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมืองซึ่งจะหมดสัญญาปี 65 ส่วนในด้านกิจการการบินยังโตได้จากการสร้างสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 พัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 รวมถึงการบริหารสนามบินในภูมิภาคอีก 4 แห่ง (ตาก ชุมพร อุดรธานี สกลนคร)
รวมทั้ง AOT ยังมีโครงการใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นได้ต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการ Pick Up Counter สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการ Airport City ที่จะมีความชัดเจนภายในปีนี้
ราคาหุ้น AOT ช่วงบ่ายอยู่ที่ 75.50 บา เพิ่มขึ้น 1.00 บาท (+1.34%) ขณะที่ SET -0.13% เมื่อเวลา 14.46 น.
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 88.00 เคจีไอ ซื้อ 88.00 เคทีบี ซื้อ 86.00 ฟิลลิป ซื้อ 84.50 ทรีนิตี้ ซื้อ 83.00 เคทีซีมิโก้ ซื้อ 83.00 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ซื้อ 82.00 คิงส์ฟอร์ด ซื้อ 80.00 ดีบีเอส วิคเคอร์ส ซื้อ 80.00 ทิสโก้ ถือ 77.00 หยวนต้า Trading 73.00
นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้ปรับราคาเป้าหมาย (Fair Price) ของ AOT จาก 71.00 บาท/หุ้น เป็น 84.50 บาท/หุ้น หรือเพิ่มขึ้น 13.50 บาท/หุ้น จากการประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ และดิวตี้ฟรีสนามบินภูมิภาค ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก แม้ว่าจะได้รับผลตอบแทนในปี 64 แต่ใช้วิธี DCF ดึงผลกำไรในอนาคตมาคำนวณ
ในปี 62 และ 63 ยังคงประมาณกำไรสุทธิที่ 25,968 ล้านบาท และ 27,837 ล้านบาทตามลำดับ แต่ในปี 64 กำไรสุทธิ ประเมินไว้ที่ 41,511 ล้านบาท
โดยกลุ่มคิงเพาเวอร์เป็นผู้ชนะการประมุลให้ผลตอบแทนดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ Minimum Guarantee ปีแรกเพิ่มเป็น 15,419 ลบ. (ปี 64) เทียบกับปี 62 ที่ 5,377 ลบ. พื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ Minimum Guarante ปีแรกเป็น 5,798 ลบ. เทียบกับปี 62 ที่ 2,198 ลบ. และ ดิวตี้ฟรีสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง Minimum Guarantee ขั้นต่ำที่ 2,331 ลบ. เทียบตัวเลขที่เก็บจริงในปี 61 ที่ 2,725 ลบ.อีกทั้งจะปรับขึ้นทุกปีตามการเติบโตของผู้โดยสารและเงินเฟ้อ อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน เริ่ม 28 ก.ย.63
ดังนั้น ส่งผลให้รายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์ทุกสัญญาในปี 64 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 34,731 ล้านบาท จากปี 62 มีรายได้ 17,536 ล้านบาท และ 34,731 ล้านบาท ในปี 63 โดยรายได้จากกลุ่มคิงเพาเวอร์มีสัดส่วน 40% ของรายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์ อีก 60% เป็นของรายอื่น
นายสยาม กล่าวว่า แม้ว่าราคาหุ้น AOT จะปรับขึ้นมากก็ตาม แต่ยังห่างจาก Fair Price ก็ยังสามารถเช้าซื้อได้
ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ได้ปรับราคาเป้าหมายขึ้นจากเดิม 73 บาทเป็น 88 บาท (DCF)จากผลตอบแทนขั้นต่ำที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ เสนอจ่ายในสัญญาใหม่ตลอดระยะเวลา 10 ปีครึ่ง (ก.ย. 63 – มี.ค. 74) สูงถึง 2.35 หมื่นล้านบาทต่อปี (เฉพาะปีแรก ส่วนปีถัดไปปรับตามเงินเฟ้อและจำนวนผู้ดดยสาร) สูงกว่าปีปัจจุบันที่มีขั้นต่ำ 7.57 พันล้านบาท จึงเพิ่มมูลค่าให้ AOT อีก 15 บาท/หุ้น
ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ยังไม่มีผลต่อกำไรในปี 62-63 แต่น่าจะช่วยให้บริษัทถึงเป้าสัดส่วนรายได้ที่ไม่ได้มาจากกิจการการบินที่ 60% ในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ 44% ได้เร็วขึ้น
นอกจากการประมูลครั้งนี้ ยังมี upside จากการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมืองซึ่งจะหมดสัญญาปี 65 ขณะที่รายได้จากกิจการการบินยังโตได้จากการสร้างสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 พัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 รวมถึงการบริหารสนามบินในภูมิภาคอีก 4 แห่ง (ตาก ชุมพร อุดรธานี สกลนคร) ซึ่งรอขั้นตอนการโอนของกรมท่าอากาศยาน เชื่อว่าการชะลอของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยชั่วคราว ยังคงแนะนำซื้อ
ส่วน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ยังคงคำแนะนำซื้อ โดยปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 86 บาท จากเดิม 71 บาท อิงวิธี DCF โดยรวมผลการประมูลทั้ง 3 สัญญา ได้แก่ ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ, ดิวตี้ฟรี สนามบินภูมิภาค และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ สุวรรณภูมิ ซึ่ง คิงเพาเวอร์ เป็นผู้ชนะการประมูล และจะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ปีแรกรวม 2.35 หมื่นล้านบาท ดีกว่าที่เราและตลาดคาดค่อนข้างมากที่ 1-1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะปรับเพิ่มทุกปีต่อๆ ไป ใช้สูตรการคำนวณจากอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของปีปฏิทินก่อนหน้า ซึ่งเราประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% และส่งผลต่อราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากเดิม 15 บาท
ทั้งนี้ ทั้ง 3 สัญญาใหม่ จะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ 28 ก.ย.63 ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิปี 64 (ต.ค.63-ก.ย.64) จะเติบโตอย่างโดดเด่น และยังได้รับผลบวกจากการเปิดสุวรรณภูมิเฟส 2 ด้วย นอกจากนั้น ในอนาคต AOT จะมีโครงการใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นได้ต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการ Pick Up Counter สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการ Airport City ที่จะมีความชัดเจนภายในปีนี้