นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.พาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุน DIF ครั้งที่ 1/2562 มีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนฯ รวมไม่เกิน 10,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการเข้าลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนในการเพิ่มโอกาสจัดหาผลประโยชน์และผลตอบแทนการลงทุนที่ดีจากทรัพย์สินของกองทุนฯ ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในระยะยาว รวมถึงรองรับเทรนด์เติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
สำหรับทรัพย์สินที่กองทุน DIF จะลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้มีความหลากหลาย ประกอบด้วย 1. การลงทุนในกรรมสิทธิ์เสาโทรคมนาคมรวม 788 เสา แบ่งเป็นเสาที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน 749 เสา และเสาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้า จำนวนประมาณ 39 เสา ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นไม่เกิน 1 ปี
2. ลงทุนในกรรมสิทธิ์ใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (ประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร) ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
3. ลงทุนในกรรมสิทธิ์ FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดรวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (ประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 3,414 กิโลเมตร (ประมาณ 147,209 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ
ส่วนแหล่งเงินที่ใช้เพื่อลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ จะมาจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนกองทุน DIF จำนวนรวมไม่เกิน 10,500,000,000 บาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 96,379,430,540 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หน่วยละ 10 บาท เป็นทุนจดทะเบียนไม่เกิน 106,879,430,540 บาท โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ จำนวนไม่เกิน 1,050 ล้านหน่วย แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน ซึ่งจะดำเนินการกำหนดอัตราส่วนใช้สิทธิจองซื้อในการเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ต่อไป
สำหรับการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้ประมาณการเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน (Cash Distribution Per Unit หรือ DPU) ไม่ต่ำกว่าประมาณการเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรของกองทุน ในกรณีที่กองทุนไม่ได้เข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 4 สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ต.ค.62-30 ก.ย.63 ซึ่งจัดเตรียมโดยบริษัทจัดการ ตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต อยู่ที่ 1.044 บาทต่อหน่วย
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้กองทุน DIF มีขนาดทรัพย์สินและมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขายหน่วยลงทุนและความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ถือหน่วยเดิมจะตัดสินใจลงทุนเพิ่มเพื่อโอกาสรับผลตอบแทน โดยคาดว่ากองทุนฯ จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ลงทุนเพิ่มเติม โดยให้เช่าระยะยาวแก่กลุ่มทรู หนึ่งในผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เช่าหลักของกองทุนฯ นอกจากนี้ กองทุน DIF ยังสามารถนำทรัพย์สินส่วนที่เหลือไปจัดหาผลประโยชน์เพิ่มเติมจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นอีกด้วย
โดยหลังจากนี้กองทุน DIF จะดำเนินการกำหนดจำนวนหน่วยลงทุนใหม่และราคาเสนอขาย วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิ์จองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (Record Date) ต่อไป