บอร์ดกสทช.เคาะเงินเยียวยาช่องสปริงส์ 26-สปริงส์ 19-ไบรท์ทีวี รวมกว่า 1.5 พันลบ. เหลือ BEC-MCOT ยังไม่ส่งตัวเลข

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 25, 2019 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงว่า ที่ประชุมกรรมการกสทช.วันนี้ (25มิ.ย.) มีมติอนุมัติให้เยียวยาผู้ประกอบการทีวีภาคพื้นดิน ช่องสปริงส์ 26 หรือช่อง NOW, สปริงส์ 19 และ ไบรท์ทีวี คิดเป็น 1,548.698 ล้านบาท

สำหรับช่องสปริงส์ 26 หรือช่อง NOW ให้มีการเยียวยา 45 วัน (สิ้นสุด 15 ส.ค.) โดยเงินที่ได้จากการชดเชย ยอดประมูล 2,200 ล้านบาท ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้ว 1,472 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมที่ยังไม่ได้ใช้งาน 951.064 ล้านบาท เคยได้รับผลประโยชน์สนับสนุนค่าโครงข่าย (MUX) 26.25 ล้านบาท ค่าสนับสนุนการออกอากาศทางดาวเทียม 33.97 ดังนั้นค่าชดเชยที่จะได้รับ คือ 890.834 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 4 จำนวน 215.07 ล้านบาท จึงเหลือเงินที่จะได้ 675.764 ล้านบาท

สปริงส์ 19 ให้มีการเยียวยา 45 วัน (สิ้นสุด 15 ส.ค.)โดยเงินที่ได้จากการชดเชย ยอดประมูล 1,318 ล้านบาท ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้ว 888.8 ล้านบาท คิดเป็นค่าธรรมเนียมที่ยังไม่ได้ใช้งาน 567.795 ล้านบาท เคยได้รับผลประโยชน์สนับสนุนค่า MUX 27 ล้านบาท ค่าสนับสนุนการออกอากาศทางดาวเทียม 35.431 มีกำไรสุทธิ 4.412 ล้านบาท ไม่มีค้างชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 4 ดังนั้นค่าชดเชยที่จะได้รับ คือ 500.951 ล้านบาท

ไบรท์ทีวี ให้มีการเยียวยา 45 วัน (สิ้นสุด 15 ส.ค.)โดยเงินที่ได้จากการชดเชย มียอดที่ประมูล 1,298 ล้านบาท ชำระ 866.8 ค่าธรรมเนียมที่ยังไม่ได้ใช้งาน 56.042 ล้านบาท ผลประโยชน์ MUX 26.25 ล้านบาท ค่าสนับสนุนการออกอากาศทางดาวเทียม 34.692 กำไรสุทธิไม่มี ค้างชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 4 จำนวน 127.116 ล้านบาท ดังนั้นค่าชดเชยที่จะได้รับ คือ 371.983 ล้านบาท

ทั้งนี้กสทช.จะยืมเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนกทปส.) เพื่อชดเชยผู้ประกอบการที่ขอคืนใบอนุญาต 7 ช่อง โดยประมาณการงบประมาณที่งบประมาณที่ต้องใช้ไว้ประมาณ 4,847.198 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินชดเชยช่องทีวีที่คืนใบอนญาตประมาณ 2962.798 ล้านบาท เงินชดเชยค่ามัคสำหรับทีวีดิจิทัลที่ได้รับการเยียวยาทั้งหมด 552.8 ล้านบาท ค่าการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีภาคพื้นดิน รวม 345 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าในการยื่นแผนเยียวยาเพื่อรับการชดเชยล่าสุดวอยซ์ทีวีได้ยื่นหลักฐานมาแล้วเหลือเพียง บมจ.บีอีซี มัลติมีเดีย (บริษัทย่อยของบมจ.บีอีซีเวิล์ด(BEC)) และบมจ.อสมท. (MCOT)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ