นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมเปิดตัวเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า เพื่อนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนทั้งในระดับสตาร์ทอัพจนถึงกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ หรือกลุ่มไบโอเทค ให้เข้ามาลงทุน โดยจะเริ่มจากการโรดโชว์ในไทย หลังจากนั้นจะเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี และยุโรป เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาใช้พื้นที่สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยคาดหวังโอกาสการพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวคาดว่าจะมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วมให้ข้อมูลด้วย ขณะที่ปัจจุบันปตท.มีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมใช้พื้นที่ใน Innovation Zone ของ EECi บ้างแล้ว และยังมีพันธมิตรที่คาดว่าจะเข้ามาร่วมในอนาคตอย่างหัวเว่ย ,บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ,กลุ่มจีอี , Schneider เป็นต้น และปตท.มีแผนเจรจากับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ราว 300-500 บริษัท ให้มาสร้างสรรค์งานวิจัยในพื้นที่ EECi เพิ่มเติมด้วย
"ปตท.เตรียมเปิดตัว EECi ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หรือในไตรมาสแรกปีหน้า เราจะดึงฐานคนไทยตรงนี้ก่อน มีโอกาสก็จะไปญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไปกันเป็นทีม นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มีนวัตกรรม ไปยุโรป 2-3 ครั้ง คาดหวังว่าจะได้มีการพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมใหม่ๆในประเทศ"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า คณะกรรมการปตท.เห็นความสำคัญต่อโอกาสในการพัฒนางานวิจัยใหม่ๆเพิ่มเติม จึงได้จัดงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องไปอีก 10 ปีสำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากการสนับสนุนเดิมจะสิ้นสุดในปี 64
ปัจจุบัน VISTEC ได้ตั้งโรงงานพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและลิเทียมซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้า ขณะเดียวกันบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ก็อยู่ระหว่างพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากเทคโนโลยี 24M และสถาบันนวัตกรรมของปตท.ที่วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ก็พัฒนาที่ชาร์จรถยนต์ โดยปตท.ได้ศึกษาเทคโนโลยีหลายรูปแบบเพื่อที่จะหาโมเดลที่เหมาะสมเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ต่อไปด้วย
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของปตท. ก็จะพัฒนาในรูปแบบสมาร์ทซิตี้ โดยจะให้มีความเชื่อมโยงพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด ทั้งการมีพลังงานโซลาร์ในการใช้งาน ระบบน้ำที่หมุนเวียนกลับมาใช้ได้ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกันเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ
ส่วนการพัฒนารูปแบบสมาร์ทซิตี้ในโครงการสถานีกลางบางซื่อซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบรางของกรุงเทพมหานครและภูมิภาคนั้น ขณะนี้รอการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สรุปรูปแบบการพัฒนา เบื้องต้นทางรฟท.อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) หลังจากนั้นต้องรอดูว่าทางรฟท.จะให้ปตท.เข้าไปร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งจากการประชุมร่วมกันค่อนข้างมีแนวโน้มที่ดีและยังมั่นใจว่าจะสามารถมีความร่วมมือระหว่างกันได้ดี
ทั้งนี้ ปตท.ได้ศึกษารูปแบบการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในเมือง Aspern ประเทศออสเตรีย และเมือง Grenoble ประเทศฝรั่งเศส เพื่อใช้ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในไทย โดยในเมือง Aspern เป็นการสร้างเขตเมืองใหม่ที่มีการใช้งานหลากหลายรองรับประชากรได้ถึง 3 หมื่นครัวเรือน โดยเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 50-72 เพื่ออยู่อาศัยก่อสร้างสำนักงานการให้บริการทางธุรกิจ วิทยาศาสตร์ การวิจัย การศึกษาและพื้นที่สำหรับสาธารณประโยชน์และสันทนาการ
โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง Quality of life ที่ต้องการให้ผู้ที่อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงสวัสดิการรัฐ และไม่จำเป็นต้องเดินทางซึ่งจะช่วยลดการปล่อยมลพิษ เพราะในพื้นที่จะเป็นที่ตั้งของทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ และใช้ระบบขนส่งทางรางเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่เข้าสู่ตัวเมือง ,Resource ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าและใช้ไฟฟ้าให้น้อยกว่ากำลังการผลิต , Innovation ด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรและความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อให้การพัฒนาประสบความสำเร็จมากขึ้น
ส่วนเมือง Grenoble ซึ่งเดิมเป็นเมืองที่มีการทำอุตสาหกรรมหนักก็หันมาพัฒนาเมืองในเชิงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต จนทำให้ปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญด้านนวัตกรรมของฝรั่งเศส ส่งผลให้ฝรั่งเศสมีสินค้านวัตกรรมหลายอย่างออกมาจำหน่ายทั่วโลก โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นและการสนับสนุนจากภาครัฐ
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้พัฒนาเมือง ประกอบด้วย Mobolitity ซึ่งสมาร์ทซิตี้ทุกแห่งจะให้ความสำคัญกับการขนคนเพื่อลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการขนส่ง โดยมีการพัฒนารถยนต์จากพลังงานไฮโดรเจนและไบโอแก๊ส ,การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพด้วยการนำพลังงานมาหมุนเวียนใช้ให้ได้อย่างคุ้มค่า ,การบริหารจัดการเพื่อมลพิษทางอากาศ และการบริหารจัดการขยะและของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า