กลุ่มผู้ลงทุนหลักในโครงการโรงไฟฟ้ามินบู ได้แก่ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) และ บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) รวมทั้งคณะผู้บริหารและทีมงาน บริษัท จีอีพี (เมียนมาร์) จำกัด และกลุ่มผู้ก่อตั้งโครงการ จัดพิธีเปิดโรงไฟฟ้ามินบู เฟส 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ณ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา
พิธีดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา พร้อมด้วย รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไฟฟ้าและพลังงาน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐมาเกวย เป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งเต็มที่ 220 เมกกะวัตต์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าโซล่าร์แห่งแรกของเมียนมา พื้นที่รวมของโครงการมีขนาด 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ซึ่งได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาล และบริษัทในประเทศเมียนมา เมื่อจ่ายไฟฟ้าแล้วจะขายให้กับหน่วยงานจัดหาพลังงานภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน (Electric Power Generation Enterprise (EPGE)) ของรัฐบาลเมียนมามีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh ต่อปี เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้า 2 แสนครัวเรือน
นายออง ทีฮา ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลอย่างเต็มที่ ต้องยอมรับว่าประชาชนชาวเมียนมาส่วนมากยังใช้ชีวิตอยู่โดยขาดแคลนไฟฟ้าใช้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้จะทำให้ชาวเมียนมามีชีวิตที่ดีขึ้น โดยความสำเร็จนี้การันตีความสำเร็จของ GEP ในอนาคตเพื่อก้าวต่อไปในการพัฒนาโครงการอื่นๆในอนาคต
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCN กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้เราตั้งทีมศึกษาดูรายละเอียดของโครงการอย่างถี่ถ้วนและมั่นใจว่าโครงการนี้มีศักยภาพที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างแน่นอน จากความสำเร็จในเฟสแรกนี้แม้เป็นเพียงก้าวแรกของโครงการ แต่เราเชื่อมั่นว่าการก่อสร้างเฟสต่อๆ ไปจะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีเพราะมีทีมงานที่มีประสบการณ์และคุ้นเคยการทำงานร่วมกันหมดแล้ว
หลังจากโครงการ COD แล้ว SCN จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน GEPT เป็น 40% ซึ่งจะส่งผลให้การรับรู้กำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเราจะกลายเป็นผู้ลงทุนและถือหุ้นใหญ่ใน GEPT ซึ่งประเมินแล้วว่าผลตอบแทนที่จะได้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างแน่นอน เราไม่ได้มองแค่ที่เมียนมาแต่ยังมีประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ที่เป็นเป้าหมายในการขยายการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานเพื่อสร้างโอกาสการเติบโต โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างพิจารณาศึกษาการลงทุนในประเทศเวียดนามและใกล้เคียง
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF เปิดเผยถึง บริษัทเข้าร่วมทุนในสัดส่วน 20% โดยลงทุนผ่าน บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะบริษัทย่อยของ ECF คาดว่าจะเริ่ม COD เฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ภายในไม่เกินไตรมาส 2-3/62 ส่งผลให้บริษัทจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันทีในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการเริ่ม COD ของเฟสที่ 2 3 และ 4 จะทยอยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการหลัง COD 360 วันของแต่ละเฟสเป็นลำดับต่อไป
ในปีนี้ธุรกิจพลังงานทดแทนที่ ECF ได้เข้าลงทุน จะเห็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรอย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลภาคใต้ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ อีกทั้งบริษัทมีแผนขยายธุรกิจด้านพลังงานอย่างจริงจัง โดยยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายโครงการในต่างประเทศ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะช่วยสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นหากมีโครงการพลังงานทดแทนที่มีความน่าสนใจ บริษัทพร้อมที่จะเข้าไปศึกษาโครงการนั้นๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุน
นายศุภศิษฎ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร META กล่าวว่า โรงไฟฟ้ามินบูเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัท มีศักยภาพมากพอในด้านการปฏิบัติการและในการรับเหมาก่อสร้างโครงการใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ หลังจากที่ได้เข้ามาบริหารงานตั้งแต่ปี 58 ได้ศึกษาและทำความเข้าใจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเสี่ยง วิธีการทำงานในเมียนมา การให้ความรู้และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องอาศัยการบริหารความสัมพันธ์อันดี ทำให้เรามีความแน่นแฟ้นกับชาวเมียนมามากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ในการขยายธุรกิจรับเหมาของบริษัทฯ
ด้วยความเชี่ยวชาญนี้จะทำให้บริษัทฯ มีช่องทางในการรับงานรับเหมากับโครงการอื่นๆ ในเมียนมา และทำให้เรามีโอกาสขยายตัวสูงขึ้น มุ่งเข้าพัฒนาธุรกิจในโครงข่ายพลังงานและด้านอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันชาวเมียนมามีไฟฟ้าใช้เพียงแค่ 1 ใน 3 ของประเทศ การเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้า ในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการช่วยให้ชาวบ้านและเมืองมินบูมีการพัฒนามากขึ้น ดึงความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ช่วยพัฒนาชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส ทั้งนี้จากความสำเร็จของโครงการดังกล่าว จะทำให้ META รับรู้รายได้จากสองทางคือรายได้จากการจำหน่ายไฟและรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 62 นี้ และจะดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ามินบูเฟส 2,3,และ 4 ทันที ตามลำดับ