บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศถอน “เครดิตพินิจ" แนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 แก่อันดับเครดิตของ ธนาคารทหารไทย (TMB) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 8,000 ล้านบาท (TMB153A) ของธนาคาร พร้อมทั้งกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" แทน
การปรับเปลี่ยนสถานะอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากธนาคารประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนจำนวน 37.6 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ซึ่งมีผลให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของธนาคารฟื้นตัวขึ้นจาก 10.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 เป็น 14.4% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารที่ระดับ “A" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ TMB153A ของธนาคารที่ระดับ “A-" ซึ่งสะท้อนฐานะทางการเงินของธนาคารในช่วงปี 2549-2550 ที่อ่อนแอลงกว่าคาดเนื่องจากการมีภาระกันสำรองจำนวนมากจากการใช้มาตรฐานบัญชีสากลฉบับใหม่ (IAS39) และการตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงได้รับการชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนและสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นของธนาคารในปี 2550 นอกจากนี้ ยังมีความคาดหวังว่าธนาคารจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ คือ ING Bank N.V. ในแง่ของการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและมาตรฐานของระบบบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจธนาคารที่ไม่เอื้ออำนวยและภาระการกันสำรองที่จะเกิดขึ้นตามเงื่อนไขของมาตรฐาน BASEL II ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะจำกัดการขยายตัวทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่าธนาคารจะสามารถปรับปรุงฐานะทางการเงินได้ในระยะปานกลาง การผนึกกำลังกับ ING Bank โดยการผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่ายร่วมกันซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่มูลค่าทางธุรกิจ (Franchise Value) ของธนาคารนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ทริสเรทติ้งจะดำเนินการทบทวนอันดับเครดิตของธนาคารอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังจากที่แผนธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบของคณะผู้บริหารชุดใหม่จัดทำแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2551 ปัจจุบัน ING Bank ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ “AA/Stable" จาก Standard & Poor’s และ “Aa1/Stable" จาก Moody’s Investors Service
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ธนาคารทหารไทยมีขนาดของสินทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด ซึ่งลดลงจากอันดับ 5 ในปี 2549 โดยธนาคารรายงานยอดสินทรัพย์ตามงบการเงินรวมที่ยังไม่ได้สอบทาน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ที่ระดับ 622,184 ล้านบาท ลดลง 18% จาก 751,877 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 การลดลงของขนาดสินทรัพย์เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การลดลงของสินเชื่อจำนวน 76,142 ล้านบาทตามกลยุทธ์การลดพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนต่ำของธนาคาร การลดลงของเงินลงทุนสุทธิจำนวน 19,717 ล้านบาทหลังจากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้ออกไป การลดลงของทรัพย์สินรอการขายจำนวน 7,241 ล้านบาทหลังจากตัดขายสินทรัพย์รอการขายออกไป และการขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมจำนวน 12,621 ล้านบาท
ธนาคารรายงานผลขาดทุนสุทธิสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ติดต่อกัน 2 ปี โดยขาดทุนสุทธิจำนวน 12,292 ล้านบาทในปี 2549 และ 43,657 ล้านบาทในปี 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรฐานบัญชีสากลและการตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ธนาคารได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 14,399 ล้านบาทในปี 2549 และ 31,732 ล้านบาทในปี 2550 ซึ่งมีผลต่อการ
ลดลงของผลกำไรของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญในปีดังกล่าว นอกจากนี้ ธนาคารยังมีค่าใช้จ่ายเป็นรายการพิเศษจำนวน 12,237 ล้านบาทสำหรับการขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยม
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารที่ลดลงในปี 2550 ได้รับการชดเชยบางส่วนจากฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนในเดือนธันวาคม 2550 และสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารที่ดีขึ้น หลังจากการเพิ่มทุนจำนวน 37.6 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 แล้ว อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของธนาคารได้เพิ่มขึ้นจาก 10.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 เป็น 14.4% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากธนาคารปรับโครงสร้างทางการเงินในช่วงปี 2548-2549 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารลดลงเป็น 98% จาก 103% ในเดือนธันวาคม 2548
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงเป็นประเด็นที่ทริสเรทติ้งเป็นห่วงเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยอาจมีผลกระทบต่อเครดิตของลูกค้าของธนาคารและทำให้คุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลง ในปี 2550 ธนาคารได้ใช้เกณฑ์การจัดชั้นคุณภาพสินทรัพย์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 72,415 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 จากระดับ 56,089 ล้านบาทในปี 2549 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารจึงเพิ่มขึ้นจาก 10.2% ในปี 2549 เป็น 15.2% ในปี 2550 ทริสเรทติ้งกล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--