นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กรณีการยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยการขยายสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนA ,B ,C ) , ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และ โครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) ออกไป 30 ปีว่า บอร์ดกทพ.คงไปดึงเรื่องคืนไม่ได้ เพราะบอร์ดกทพ.มีมติไปแล้ว และได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามขั้นตอนแล้ว ขณะนี้ จึงถือว่าเลยขั้นตอนและอำนาจของบอร์ดไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ เป็นกระบวนการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและ อำนาจครม. หากผลออกมาเป็นอย่างไร ต้องปฎิบัติตาม เช่น กรณีอนุมัติ กทพ.ก็ต้องมาดำเนินการเจรจาและทำสัญญาต่อ หากครม.ไม่อนุมัติ สามารถกลับมาเริ่มกันหาแนวทางกันใหม่
สำหรับกรณีที่พนักงานมีข้อห่วงใย ต่างๆ บอร์ด ได้มีข้อสังเกตไปแล้ว ในการเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม. สำหรับกรณี ตีความบัญชี มูลหนี้ และการลงบัญชี เรื่องนี้จะมีการหารือกับสตง.และสภาวิชาชีพบัญชี ในการพิจารณาลงบันทึกบัญชี อย่างไร
ส่วนกรณีอัยการมีความเห็น ให้กทพ.ดำเนินการในกระบวนการต่างๆ ให้ครบถ้วน ก่อนลงนามสัญญา กรณีที่ ครม.อนุมัติ ตามที่เสนอการยุติข้อพิพาท เรื่องนี้ กทพ.ได้บันทึกเสนอไว้แล้ว ว่าจะต้องทำตามเงื่อนไขให้ครบตามความเห็นอัยการ
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมบอร์ด นายประสงค์ ศรีสุกใส รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อให้ดำเนินการ ขอคืนบันทึกเรื่องการยุติข้อพิพาทและดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด(ทางพิเศษอุดรรัถยา) ตามมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จากกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อให้ถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งการบันทึกบัญชีของกทพ. กรณีที่ต้องแก้ไขสัญญาตามแนวทางดังกล่าวอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการของกทพ.
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด กทพ.(27 มิ.ย.) ได้รับทราบผล การประมูลงานก่อสร้างโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม.ในส่วนของงานโยธา จำนวน 4 สัญญา วงเงินรวม 29,154.230 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนของบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) การประมูลสัญญา 1,2,3 ซึ่งมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนด้านกฎหมาย กรณีที่หากมีข้อพิพาท การบังคับคดีแล้ว กลุ่มผู้รับเหมาที่ชนะ มีผู้รับเหมาจีน ซึ่งมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ จะดำเนินการได้หรือไม่
ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจ ในกระบวนการที่ถูกต้องและโปร่งใส บอร์ด จึงมอบหมาย ให้นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการบอร์ดกทพ. ช่วยตรวจสอบความชัดเจน อีกครั้ง ซึ่งหากไม่มีประเด็นที่เป็นปัญหา ตามที่บอร์ดตั้งข้อสังเกต ให้ดำเนินการขั้นตอนลงนามสัญญาต่อไป
"บอร์ด รับทราบหลักการ ผลประมูลไปแล้ว แต่ยังติดใจความเป็นรัฐต่างชาติ ของผู้รับเหมาที่ร่วมทุนเข้ามา หากตรวจสอบข้อกฎหมายแล้วไม่มีปัญหา ให้กทพ.ประกาศผลประมูลเป็นทางการและดำเนินการลงนามสัญญาต่อไป"
นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำการแทนผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า ประเด็นที่บอร์ดกังวล และต้องหาความชัดเจน เช่น บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจจีน เมื่อเป็นคู่สัญญากันแล้ว หากเกิดมีพิพาท. การบังคับคดี การฟ้องร้องจะทำอย่างไร เพราะความเป็นรัฐจะมีเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการฑูต จะมีผลกระทบหรือไม่ เป็นต้น
"บอร์ดอนุมัติแบบมีเงื่อนไข ซึ่งหากเคลียร์ได้ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการลงนามสัญญา ซึ่งกทพ.ต้องการเร่งรัด ในการเบิกจ่ายเงิน จากกองทุน TFF "