บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ฯถึงหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะปลดเครื่องหมาย SP ชั่วคราวในช่วง 1-31 ก.ค.62 จำนวน 16 ตัว(ราคาปิด) ได้แก่ บมจ.แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป (A5) หรือ ADAM เดิม (14.00 บาท), บมจ.บลิส-เทล (BLISS) (0.03 บาท) , บมจ.บางกอกสหประกันภัย (BUI) (13.47 บาท), บมจ.ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) หรือ CHUO (3.30 บาท), บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) (1.46 บาท), บมจ.จี สตีล (GSTEL) (0.13 บาท), บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) (3.10 บาท),
บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC) (1.00 บาท), บมจ.เคเทค คอนสตรัคชั่น (KTECH) (0.43 บาท), บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) (0.54 บาท), บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) (0.20 บาท), บมจ.โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) (0.15 บาท), บมจ.โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) หรือ PRO (0.17 บาท), บมจ.ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง (STHAI) (0.90 บาท), บมจ. ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) (0.02 บาท), บมจ.วีรีเทล (WR) (1.84 บาท) ซึ่งได้ถูกขึ้น SP ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเกิน 3 เดือน ซึ่งเข้าเกณฑ์ตามข้อกำหนดไว้ และตั้งแต่ 1 ส.ค.กลับมา SP อีกครั้ง จนกว่าจะมีคุณสมบัติกลับมาซื้อขายได้
ขณะที่หุ้นอีกกลุ่มที่ได้รับการปลดเครื่องหมาย SP ชั่วคราว ในวันที่ 1 ก.ค. - 9 ก.ค. ก่อนที่จะยกเลิกสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในวันที่ 10 ก.ค. ได้แก่ IEC (0.02 บาท), LVT (0.66 บาท) และ YNP (0.29 บาท)
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance และ ตลท.จะไม่กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดของหุ้นในวันแรกที่มีการซื้อขาย คือ วันที่ 1 ก.ค.เพื่อให้ราคาหลักทรัพย์เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง รวมทั้งจะไม่นำหลักทรัพย์มารวมในการคำนวณดัชนี ST Index และ MAI Index
ฝ่ายวิจัยมองว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีหุ้นเดิมขายออกมาเสริมสภาพคล่องได้ในระยะ 1 เดือน แต่ผู้มีหุ้นเดิมบางรายอาจจะไม่ขายออกมาแต่ต้องการรอให้มีแก้ไขคุณสมบัติเมื่อกลับมาซื้อขายจะมีราคาหุ้นที่ดีขึ้น แต่ก็มีนักลงทุนรายใหม่สนใจเก็งกำไร เพราะเชื่อว่ามีราคาถูก สะท้อนสถานะที่ยังไม่ดี แต่เมื่อพร้อมกลับมาซื้อขายใหม่ราคาหุ้นจะปรับขึ้นแรง เนื่องจากได้แก้ไขจนมีสถานะธุรกิจและการเงินที่ดีขึ้นแล้ว ซึ่งความเสี่ยงคือจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่จะกลับมาซื้อขายใหม่ตามปกติได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานกลับมามีกำไรและมีทุนจดทะเบียนเข้าเกณฑ์ อาจมีการเก็งกำไรสูงกว่าตัวอื่น ๆ คือ PRO, BLISS, BUI โดย PRO มีกำไรสุทธิปี 61 ที่ 33 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นปี 62 ที่ 340 ล้านบาท, BLISS มีกำไรสุทธิปี 61 ที่ 73 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นปี 62 ที่ 1,636 ล้านบาท และ BUI มีกำไรสุทธิปี 61 ที่ 4 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นปี 62 ที่ 702 ล้านบาท
แม้ BUI มีกำไรยังไม่ถึง 30 ล้านบาท ต้องติดตามปี 62 อย่างไรก็ตามยังมีเกณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องผ่านคือ มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้เรียบร้อย มีผลการดำเนินงานที่มั่นคง มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนฯ และหากอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง ก็ต้องออกจากแผนให้สำเร็จก่อน
สำหรับ GSTEL คาดว่าจะกลับมาซื้อขายปกติได้ราว พ.ย.62 หลังส่งบการเงินได้ทุกไตรมาส เตรียมแผนปรับโครงสร้างหนี้ใน 1 เดือน ส่วน IFEC ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และเป็นประธานกรรมการบริษัท นายทวิช เตชะนาวากุล ให้ความมั่นใจว่าจะไม่ขายหุ้นออกมาในช่วงเปิดขายดังกล่าว
ด้าน EARTH ก.ล.ต.เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลมูลค่ายุติธรรมเหมืองถ่านหิน 2 แห่งในอินโดฯ ก่อนซื้อ-ขายหุ้น EARTH ทั้งนี้ทางบริษัทได้เคยชี้แจงข้อมูลที่ว่าจ้างผู้ประเมินอินโดฯมามีมูลค่าที่ 25,100 และ 29,000 ล้านบาท แต่ผู้ทำแผน บริษัท อีวาย คอร์ปปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) ได้จัดทำรายงานการถือหุ้นและสภาพเหมือง จึงตีค่ายุติธรรมออกมาน้อย ทางก.ล.ต.กำลังให้บริษัทและกรรมการบริษัทชี้แจงข้อมูล สามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดตามข่าว SET
ด้านหลักทรัพย์อื่น ๆ ยังมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน และคาดว่าต้องใช้เวลาพอควรในการแก้ไขคุณสมบัติให้เข้าเกณฑ์ จึงจะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้