สรส.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านขยายสัมปทานทางด่วนให้ BEM หวั่นรัฐเสียประโยชน์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 1, 2019 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรมในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการขยายระยะเวลาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดดำเนินการสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ กทพ.ได้มีมติให้ขยายสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนA ,B ,C ) , ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และ โครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) ออกไป 30 ปีให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีคำสั่งแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

สรส.ระบุว่า สร.กทพ.ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ สรส.ได้พยายามทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ในการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทเอกชนในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน -ปากเกร็ด โดยการแลกกับการยุติกับข้อพิพาทที่ศาลยังไม่ได้พิพากษามาเป็นข้ออ้างหรือเหตุในการพิจารณาขยายสัมปทาน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และทำให้รัฐเสียประโยชน์

และที่สำคัญ ผลประโยชน์แห่งรัฐมิควรอย่างยิ่งที่จะนำมาแลกหรือตอบแทนกัน ซึ่งในทางที่ถูกต้องควรพิสูจน์ให้แน่ชัดตามกระบวนการยุติธรรม มิใช่คาดเดาผลแห่งการดำเนินการทางกฎหมายแล้วเกรงว่าจะพ่ายแพ้แก่คู่พิพาทแล้วจำยอมเจรจาต่อรองแลกกันซึ่งผลประโยชน์ ซึ่งอาจมองได้ว่าจงใจเจตนาทำให้รัฐเสียหายซึ่งอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากยังมีประเด็นที่มีนัยสำคัญ คือ

1.ที่มาของข้อมูลที่ใช้เป็นแนวทางในการเจรจาไม่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นข้อมูลของที่ปรึกษาที่ยังมิได้ผ่านการตรวจสอบ หรือตรวจการจ้างตามขั้นตอนของกฎหมาย

2.ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ผลการเจรจาเป็นการบรรเทาความเสียหายของรัฐบาลอย่างไร ได้มีการศึกษาหรือวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการขยายสัมปทาน เพื่อใช้ประกอบการเจรจาต่อรองแล้วหรือไม่ เนื่องจากมีการนำข้อพิพาทรวมต้นเงินและดอกเบี่ย อีกทั้งมูลค่าที่เอกชนยังไม่เรียกร้องมาเป็นเหตุในการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งมูลค่าที่เอกชนยังไม่เรียกร้องยังมีประเด็นเรื่องของการตีความกฎหมายเรื่องของการขาดอายุความ

3.การต่อระยะเวลาของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานครให้เอกชน ทั้งที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั้งหมด

4.การให้สิทธิเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมในการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) และสิทธิการใช้พื้นที่ได้เขตทาง บนเขตทาง และพื้นที่เชื่อมต่อโครงสร้างทางด่วน มีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไร มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวแล้วหรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายเดิมหรือไม่ เหตุใดจึงไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ชัดเจน หรือเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของนักลงทุนต่างๆ ได้ร่วมพัฒนาประเทศ ตามวัตถุประสงค์การขอเวนคืนพื้นที่มาจากประชาชน

5.ร่างสัญญาสัมปทานดังกล่าวมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ได้มีการเร่งรีบนำเสนอคณะกรรมการกำกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งใครเป็นผู้ร่างสัญญา กทพ.ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดข้อพิพาทที่จะนำไปสู่การที่รัฐต้องสูญเสียเงินมหาศาลจากการแพ้คดี (ค่าโง่)นับแสนล้านบาท ดังเช่นปัจจุบัน

6.ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งเป็นตัวแปรที่จะแสดงผลให้เห็นเด่นชัดว่า การทางพิเศษฯจะเสียหาย หรือได้ประโยชน์อย่างไรจากการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ แต่หากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว และสภาวิชาชีพบัญชีพิจารณาภายหลังให้การทางพิเศษฯต้องบันทึกบัญชีเพื่อรับสภาพหนี้ การทางพิเศษฯจะต้องไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลกำไรขาดทุนในระยะเวลายาวนานติดต่อกันประมาณ 6-7 ปี ซึ่งจะทำให้เป็นภาระของรัฐบาล อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศชาติ ประชาชน และพนักงานอย่างรุนแรงอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ