นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า มองแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในไตรมาส 3/62 ยังมี Downside ที่ระดับ 1,600 จุด เนื่องจากอาจเห็นการปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยอันเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวลงจากกรณีงบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า คาดว่า GDP ในปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 3% และอาจเห็นการปรับลดกำไรต่อหุ้น (EPS) ลงด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า Downside ยังมีจำกัดด้วยความสามารถของธนาคารกลางและกระแสเงินของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก โดยคาดว่า SET Index ช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1,700-1,750 จุด บนคาดการณ์ P/E ที่ 16.3 เท่า และ EPS 105 บาท/หุ้น โดยหากแตะระดับ 1,750 จุด ก็อาจเห็นการขายทำกำไรออกมาบ้าง จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศอื่นๆ ที่ยังต้องติดตามพัฒนาการกันต่อไป
ด้านกลยุทธ์ลงทุนในไตรมาส 3/62 แนะนำให้เน้นหุ้นที่อ้างอิงปัจจัยในประเทศ (domestic play) ที่มีการเติบโตและได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ AMATA และ ROJNA, กลุ่มการแพทย์ CHG, กลุ่มธนาคาร KTB และกลุ่มปิโตรเคมี IVL ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้น Global play ที่ปลอดภัยจากประเด็นสงครามการค้า
นายสุกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมช่วงครึ่งปีหลังนี้ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะดำเนินต่อไป และยังคงมีความเสี่ยงที่จะเป็นตัวฉุดรั้งทั้ง sentiment ตลาดการเงิน และภาวะเศรษฐกิจโลก นอกเหนือจากปัจจัยกดดันที่เกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงปลายวัฎจักรขาขึ้น (late cycle) อยู่แล้ว ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าสหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าบางอย่างร่วมกันได้บ้างในอนาคต เพื่อไม่ให้สงครามการค้าส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยทั้งสองฝ่ายน่าจะลดภาษีนำเข้าในส่วนของสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯที่เพิ่งประกาศขึ้นภาษี 25% ไปในเดือน พ.ค.ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า
แต่ในทางตรงข้าม หากสหรัฐฯกลับมาประกาศเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าอีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีนก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงอีก 15-20% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะแข็งแกร่งกว่าโดยมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง 7-10% จากระดับปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน ตลาดการเงินโลกกำลังติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงเดือนก.ค.อย่างใกลัชิด โดยคาดว่าเฟดมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% แต่เนื่องจาก SCBS คาดว่าเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะขยายตัวในระดับปัจจุบันต่อไป ทำให้คาดว่าอาจไม่มีความจำเป็นที่เฟดต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการประชุม G20 ที่สหรัฐฯยังไม่ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนอีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่ในอนาคตหากสหรัฐฯตัดสินใจขึ้นภาษีสินค้านำเข้าดังกล่าว คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 0.50% ซึ่งเหตุผลที่ SCBS มองแตกต่างจากตลาดเป็นเพราะเชื่อว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันตลาดการเงินให้ความสำคัญแค่ Sentiment ซึ่งความเป็นจริงแล้วต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลักด้วย
ด้านเศรษฐกิจไทย พบว่าเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในภาคต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงหดตัวลง 4.9% YoY และมีส่วนสำคัญที่ฉุดรั้ง GDP ในไตรมาส 1/62 ให้ขยายตัวได้เพียง 2.8% ดังนั้น ปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปี 62 จึงจำเป็นต้องพึ่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดย SCBS คาดการณ์ GDP ปี 62 ไว้ที่เติบโต 3%
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทคาดว่าในช่วงที่เหลือปีนี้ยังคงแข็งค่ามองเฉลี่ยที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และโอกาสแข็งค่าไปแตะ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังดอกเบี้ยสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามา ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่า เพราะได้ประโยชน์จากสงครามการค้า