KBANK เตรียมออก 6 กองทุนใหม่ใน H2/62 เสนอขายกลุ่ม Private Banking เน้นกองทุนผสมความเสี่ยงต่ำ ท่ามกลางภาวะศก.โลกถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 3, 2019 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ผู้บริหาร สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์ประเภท Private Fund อีก 6 กอง มูลค่ารวม 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นกองทุนแบบผสมที่มีความเสี่ยงต่ำ หลังจากในครึ่งปีแรกธนาคารได้ออก Private Fund ไปแล้ว 6 กอง มูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท

โดยธนาคารมีแผนที่จะนำเสนอการลงทุนที่เน้นสินทรัพย์หรือกลยุทธ์ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเคลื่อนไหวของภาวะตลาดโดยรวมน้อย เนื่องจากบางสถานการณ์ การกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายทั่วโลกแบบดั้งเดิมนั้นไม่เพียงพอ ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในปี 61 ที่ผลตอบแทนทั้งหุ้น และตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวลงพร้อมกัน และถึงแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ ที่เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา แต่นับเป็นปีที่สร้างความหวั่นไหวและผิดหวังต่อนักลงทุนทั่วโลก

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ธนาคารจึงใช้เป็นแนวทางในการมองหากลยุทธ์ที่พยายามจะหลีกเลี่ยงต่อผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นซ้ำอีก เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงสกุลเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนทุกสภาวะตลาด และกลยุทธ์แบบ Long/Short ที่เน้นให้ความผันผวนต่ำ ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนได้ในทุกสภาวะตลาดเพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทุกระดับความเสี่ยง ความต้องการ และทุกวัฏจักรเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า

นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับเป้าหมายสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของกลุ่มลูกค้า Private Banking เป็นเติบโต 8-10% จากเดิมที่คาดว่าทรงตัวจากปีก่อนที่ 7.5 แสนล้านบาท

โดย ณ สิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา AUM ของกลุ่มลูกค้า Private Banking เพิ่มขึ้นมาเป็น 7.6 แสนล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนของกลุ่มลูกค้า Private Banking ที่ผ่านมามีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ภาวะตลาดหุ้นเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของลูกค้าเติบโตขึ้น 9% ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารคาดว่าแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนของลูกค้าธนาคารเติบโต 5-6% จากปีก่อนที่ผลตอบแทนติดลบ 2-3%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังของปีนี้ นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า เริ่มส่งสัญญาณการเข้าสู่ช่วงท้ายของวัฏจักรเศรษฐกิจเติบโต (Late cycle) โดยสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด คือ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ต่ำสุดในรอบ 50 ปี แสดงถึงความตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการขับเคลื่อนอัตราการเติบโตต่อไปในอนาคต อีกทั้งบางช่วงเวลา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาวลดลงต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น ดังที่เคยเกิดมาแล้วในปี 50 ก่อนที่จะตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 51 และตัวเลขเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เช่น ปริมาณการค้าโลกไตรมาส 1/62 และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 51 ทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังต่อการลงทุน สะท้อนภาพผ่านความผันผวนในตลาดทุน ซึ่งรวมถึงหุ้น ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ Late cycle ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่อัตราการขยายตัวจะชะลอลง เพราะความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจลดลง อีกทั้งมีความเปราะบางต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายรัฐบาลและการพุ่งขึ้นของต้นทุน ประเด็นเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารกลางในเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย และสร้างสภาพแวดล้อมให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อไป จะเห็นจากการที่เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มสื่อสารกับตลาดถึงเป้าหมายที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย แม้ว่าการเจรจาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในที่ประชุม G20 จะสรุปได้ถึงการสงบศึกชั่วคราว นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะสามารถหลีกเลี่ยงการโต้ตอบที่เลวร้ายกว่าปัจจุบัน แต่ความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของข้อตกลง รวมทั้งกำหนดการ ซึ่งอาจจะทำให้การเจราจายังยืดเยื้อต่อไป

จากภาพของตลาดที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น แต่ยังมีความคาดหวังที่จะปรับตัวดีขึ้นได้ หากสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมทั้งนโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางในเศรษฐกิจหลักๆในต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงความคืบหน้าหรือความชัดเจนในทางที่ดีของการเจรจาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

เราจึงเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง โดยเพิ่มน้ำหนักในพอร์ตหลัก (Core portfolio) ที่ลงทุนทุกสินทรัพย์ทั่วโลก Private Equity ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีความสามารถในการเติบโต Positive Impact การลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล และจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลกในอนาคต และ Mega Trend การลงทุนในกิจการที่สอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยี สังคมเมือง การเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยและการปรับเปลี่ยนค่านิยมการใช้ชีวิต ตลอดจนภาวะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นสามารถช่วยสร้างผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยงขาลงควบคู่กันไป เพื่อสร้างความมั่นคงของเงินลงทุนและตอบโจทย์ความมั่งคั่งที่ระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ