นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมภายใน 5 ปี (62-66) จะเติบโตปีละ 10% และเติบโตแตะ 8 แสนล้านบาท ในปี 66 จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 5.67 แสนล้านบาท โดยจะมาจากการเติบโตของธุรกิจอาหาร (Food) เป็นหลัก ซึ่งบริษัทฯ มีแผนนำโมเดล fully operations ที่ประกอบด้วย Feed, Farm, Processing, Food Readymal, Retail, Restaurant ที่ปัจจุบันมีการดำเนินงานไปแล้ว 17 ประเทศทั่วโลก ไปทำเพิ่มอีก 16 ประเทศทั่วโลก ที่ปัจจุบันที่มีการดำเนินงานในเรื่องของ Feed และ Farm เท่านั้น
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็มีแผนปรับเปลี่ยนสำนักงานขายที่ปัจจุบันมีอยู่ 19 ประเทศทั่วโลกเป็นศูนย์กระจายสินค้าเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศภายใน 5 ปีจากนี้ เพิ่มเป็น 75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 67% ส่วนที่เหลือก็จะเป็นในประเทศ 25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 33% ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายการดำเนินกลยุทธ์ที่บริษัทฯ ตั้งเป้าเป็น "ครัวของโลก" ในอนาคต
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่บริษัทฯ ต้องการจะขับเคลื่อนธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ เรื่องของ Value Creation หรือการเพิ่มยอดขายจากการใช้เครื่องจักรเดิมที่ลงทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้, Digital Transformation เพื่อความแม่นยำและลดความสูญเสียในการดำเนินงาน ซึ่งมีแผนการลงทุน Solar Rooftop โดยตั้งเป้าหมายติดตั้งใน 34 ทำเล ขนาดกำลังผลิตรวม 40 เมกะวัตต์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า และมีการทำไบโอกรีนฟาร์ม จากมูลหมู อีกด้วย และ Reduce Plastic เพื่อลดการใช้พลาสติกในองค์กร โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้ พลาสติกประมาณ 853 ล้านใบ/ปี และตั้งเป้าปี 63 จะหันมาใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา "คน" โดยสร้างบรรยากาศให้พนักงานทุกคนมีความกล้าแสดงออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีความเป็นผู้นำ ภายใต้บรรยากาศการทำงานที่เรียกว่า Leadership at all level ซึ่งจะสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า พร้อมจะนำองค์กรให้เติบโตต่อไป
"กลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรยุค 4.0 คือ การนำแนวคิดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน (Innovation towards Sustainability) เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจและทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คลาวด์ (Cloud Computing) บิ๊กดาต้า(Big Data) ไอโอที (Internet of Thing : IOT) ตลอดจนระบบอัตโนมัติ มาใช้ในการยกระดับและเชื่อมโยงกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ เช่น การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ-โรงงานอัจฉริยะ (Smart Farm-Smart Factory) หรือระบบการตลาดดิจิทัลและช่องทางการจำหน่ายสินค้า e-Commerce ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า และรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภค"
สำหรับการลงทุนในปี 62 บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท ไม่รวมการลงทุนในรูปแบบการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยหลักๆ จะใช้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารในประเทศจีน และใช้ก่อสร้างโรงงานไก่อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงดูจนถึงการแปรรูปในประเทศเวียดนาม รวมถึงยังใช้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D Center) จำนวน 1,500 ล้านบาท