นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทลูกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการเจรจาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน(PPP) ตามคำสั่ง ม.44 ได้มีการเจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ไปแล้วสองครั้ง
จากการเจรจาที่ผ่านมาอยู่ภายใต้เงื่อนไขให้ BTS เก็บค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท/เที่ยว จากที่ควรจะต้องสูงกว่านี้มาก โดยให้เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว พร้อมทั้งให้ชำระหนี้แทน กทม.มูลหนี้กว่า 1 แสนล้านบาทที่เป็นค่าสินทรัพย์ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (เขียวใต้) และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต(เขียวเหนือ) ที่ กทม.รับโอนจากการรถไฟฟ้าชนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.)
ขณะเดียวกัน BTSC จะได้รับสัมปทานใหม่เพิ่มเติมจากสัญญาเดิมช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และ สะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติที่จะสิ่นสุดปี 2572 โดยได้ขยายเวลา 30 ปีหรือไปสิ้นสุดปี 2603 และส่วนที่ BTSC รับจ้าง กทม.เดินรถ ส่วนต่อขยายช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่งที่จะสิ้นสุดสัญญาปี 2585 ให้ขยายเวลาไปสิ้นสุดพร้อมกันปี 2603 เพื่อรวมให้เป็นสัญญาเดียว
นายมานิต กล่าวว่า กทม.เสนอจะอุดหนุนค่าโดยสารให้ช่วงแรก โดยจะนำรายได้จากการเดินรถส่วนต่อขยายช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ที่คาดว่าจะมีหลายพันล้านบาท/ปี เพื่อจะช่วยให้ประชาชนได้เดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ต่อเนื่องภายใต้เพดาน 65 บาทตลอดสาย
ทั้งนี้ การเจรจาของคณะกรรมการเจรจาฯกับบีทีเอส คาดว่าจะเจรจาได้จบในอีก 2 เดือน หรือประมาณต้นก.ย. ตามกรอบเวลาที่คำสั่ง ม.44 กำหนดไว้
"กรรมการทำงานมาแล้ว 30 วันเหลืออีก 2 เดือนก็จะได้ข้อสรุป กทม.ยืนยัน 65 บาทตลอดสายค่าแรกเข้าก็เก็บครั้งเดียว ดังนั้นรัฐจะ subsidy ผู้บริหารกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ "นายมานิต กล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ BTS และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า จะนำเสนอผลการเจรจาเบื้องบต้นรายงานให้คณะกรรมการบริษัทในเร็วๆ นี้ และจะดำเนินกันเป็นคู่ขนาน เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็จะนำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพราะมีเงื่อนไขหลักในการเจรจาทั้งค่าโดยสารที่วางไว้ไม่เกิน 65 บาท/เที่ยว และหนี้ที่ต้องชำระแทน กทม.กว่า 1 แสนล้านบาทที่เป็นงานโยธา 7 หมื่นล้านบาท และงานระบบ 2 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย ซึ่ง กทม.จะอุดหนุนช่วยเรื่องค่าโดยสาร
อย่างไรก็ตาม บีทีเอส เห็นว่าบริษัทน่าจะได้รับเงื่อนไขเพิ่มเติมที่จะมีการขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปมากกว่านี้ หรือมีเส้นทางต่อขยายเพิ่มเติมอีก เพื่อแลกกับการเก็บค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท/เที่ยว
อนึ่ง ในวันนี้ รฟม. กทม. และ บีทีเอส. พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความพร้อม การเปิดให้บริการสถานีห้าแยกลาดพร้าว โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพลูสุข รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่าจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี 1 สถานี ไม่เกินวันที่ 11 ส.ค. นี้ และในปลายปีนี้จะเปิดทดลองเพิ่มไปถึงสถานี ม.เกษตร รวมทั้งจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบทั้งเส้นทาง 16 สถานี ในเดือน ธ.ค.63 เร็วขึ้นจากเดิมที่เปิดให้บริการในเดือน ก.ค.64 ขณะที่งานโยธาช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตแล้วเสร็จ 100% ส่วนงานระบบเพิ่งเริ่ม โดยสถานีห้าแยกลาดพร้าว ติดตั้งได้ 80-90% แล้ว
ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.นี้ รฟม.-กทม.-บีทีเอสจะลงนามเอ็มโอยูร่วมกันโดยรฟม.จะโอนงานระบบให้ กทม.และบีทีเอส
นายสุรพงษ์ คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารที่มาจากสถานีหมอชิตจาก 8 หมื่นเที่ยวคน/วัน มาที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว 4 หมื่นเที่ยวคน/วัน ทั้งนี้ ในงวดปี 62/63( เม.ย.62-มี.ค.63) คาดจำนวนผู้โดยสารเติบโต 4-5% ซึ่งรวมถึงการเปิดให้บริการเดินรถถึงสถานีม.เกษตร ทำให้งวดปีนี้จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 8 แสนเที่ยวคน/วัน
นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทจะรับรถไฟฟ้าจากซีเมนส์ครบ 22 ขบวนในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนอีก 24 ขบวนจากจีนจะทยอยมาจนครบในช่วงต้นปี 63 หรือกลางปี 63 โดยแบ่งมารองรับการเดินรถสีเขียวใต้ 15 ขบวน สีเขียวเหนือ 21 ขบวน ส่วนที่เหลือรองรับสายสีเขียวปัจจุบัน
ทั้งนี้ช่วงทดลองนั่งตากสถานีหมอชิตไปสถานีห้าแยกลาดพร้าว จะเดินรถต่อเนื่องกันไป ยกเว้นช่วงพีค เช้า 8.00-9.00 น.จะต้องต่อ 1 สถานีที่สถานีหมอชิต และช่วงเย็น 17.00-19.00 น.ก็เช่นกัน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในกรณีส่วนต่อขยายสายสีเหลืองนั้น จะมีการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รฟม.และ บีทีเอส หลังจากที่คณะกรรมการ รฟม.ยังไม่อนุมัติข้อเสนอ เพราะเกรงว่าจะมีข้อร้องเรียนภายหลัง ดังนั้นจะเจรจากันเร็วๆนี้