การทบทวนโครงการดังกล่าว เบื้องต้นจะปรับให้เป็นการลงทุนร่วมกันของกลุ่มปตท. แทนเดิมที่จะมี IRPC เป็นแกนหลัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้วัตถุดิบในการผลิตจากแหล่งใดของกลุ่ม ปตท. และจะสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใดได้อีกหรือไม่ โดยการดำเนินการจะตั้งอยู่ในพื้นที่ของ IRPC ใน จ.ระยอง โดยมอบหมายให้นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของ ปตท. เป็นผู้ศึกษารายละเอียดดังกล่าว
สำหรับโครงการ MARS เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ IRPC ตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 62-66) ที่จะมีการผลิตพาราไซลีนและเบนซีน มีมูลค่าลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในของ IRPC นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุน Ultra Clean Fuel Project (UCF) การลงทุนรองรับการประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ด้วย
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การทบทวนแผนลงทุนของ IRPC ดังกล่าวเป็นผลราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง หลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์แล้วยังรวมถึงผลิตปิโตรเคมีอื่น ๆ ด้วย จนทำให้กำไรของ IRPC ไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงต้องปรับการลงทุนในส่วนของโครงการ MARS ให้มีความเหมาะสม แต่การลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ยังเป็นไปตามเดิม เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้โรงกลั่นน้ำมันลงทุนในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าผลกระทบจากสงครามการค้าน่าจะน้อยลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า เพราะทั่วโลกใส่ใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้จากในเวทีการประชุม G20 ก็พยายามที่จะแก้ปัญหาและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ IRPC ยังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาทุ่นลอยน้ำสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในน้ำ โดยใช้เม็ดพลาสติก PP และ ABS ซึ่งจะดำเนินการทดลองติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ IRPC ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็คาดว่าจะสามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ใน 1 ปีข้างหน้า