น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยตอบรับปัจจัยบวกจากกรณีสหรัฐฯและจีนเตรียมเจรจาการค้ารอบใหม่สัปดาห์นี้ โดยจีนกำลังพิจารณาสั่งซื้อสินค้าเกษตรบางรายการจากสหรัฐ
ส่วนปัจจัยลบที่กดดันความเชื่อมั่นการลงทุนในระยะนี้ อาทิ สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 165,000 ตำแหน่ง หลังเดือนพ.ค.ขยายตัวเพียง 72,000 ตำแหน่ง ลดความหวังต่อคาดการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ และธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยปีนี้เหลือโต 3.5% (จากคาดการณ์เดิมโต 3.8%) จากปีก่อนที่เติบโต 4.1% จากผลกระทบของการส่งออกไตรมาสแรกหดตัวในรอบ 3 ปี การลงทุนภาครัฐลดลง โดยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ
รวมทั้งสถานการณ์สหรัฐฯ-อิหร่านตึงเครียดขึ้นหลังอิหร่านประกาศจะละเมิดข้อจำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และธนาคารดอยซ์แบงก์ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ รวมถึงการปรับลดจำนวนพนักงานกว่า 18,000 ตำแหน่ง และการปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะส่งผลให้ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2/62 คาดว่าจะขาดทุนอีกด้วยราว 2.8 พันล้านยูโร
นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาในวันที่ 9 ก.ค. สหรัฐ เปิดเผยความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนมิ.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพ.ค. ส่วนในวันที่ 10 ก.ค. จับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะแถลงการณ์ว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรส รวมทั้งสหรัฐจะเปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่ง สต็อกน้ำมัน
และเช้าวันที่ 11 ก.ค. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. ส่วนจีน จะมีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย. และในวันที่ 11 ก.ค. จีน เปิดเผยยอดขายรถเดือนมิ.ย. เช่นเดียวกับสหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ในวันที่ 12 ก.ค. สหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย. ทางสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. และ จีน เปิดเผยยอดส่งออก นำเข้า และดุลการค้าเดือนมิ.ย. ยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเดือนมิ.ย.
ด้านนายสรรพกัณฑ์ ปัมทบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีโอกาสแกว่งตัวผันผวน โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้ลดโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสิ้นเดือนนี้ คาดดัชนี SET จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,705-1,745 จุด
และแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท เช่น TOA, MGT, SMIT หุ้นที่ได้ประโยชน์จากผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เช่น SYNEX, HANA, COM7, TVO หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ STEC, CK, STPI หุ้นกลุ่มเดินเรือ TTA, PSL, RCL และหุ้นเด่นจาก IAA Survey ADVANC, AMATA, CPALL, CPF, STEC
สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ มองว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำค่อนข้างผันผวนอย่างมาก โดยราคาทองคำปรับตัวลงหลังสหรัฐและจีนกลับมาเริ่มการเจรจาการค้าอีกครั้ง และคาดว่าจะระงับการเพิ่มภาษีต่อสินค้านำเข้าครั้งใหม่ระหว่างกัน นอกจากนี้ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐที่ปรับตัวดีกว่าที่คาดไว้ส่งผลให้มีแรงขายออกมากดดันเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามทองคำยังคงมีแรงซื้อหนุนเข้ามาเมื่อปรับตัวลงเนื่องจาก Fed Watch จาก Bloomberg มีโอกาส 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 2.25% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อการลงทุนทองคำในระยะกลาง ซึ่งคาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวสัปดาห์นี้ที่ 1,380-1,425 ดอลลาร์โดยหาจังหวะซื้อเมื่อย่อตัวลง