นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้าเป็น 1,775 จุด จากเดิมคาดจะอยู่ที่ 1,725 จุด ขณะที่กรอบระยะสั้น 1 เดือน คาดดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,660-1,760 จุด ส่วนดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นปี หากสามารถผ่านแนวต้านที่สำคัญที่ 1,760 จุดได้ มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีหุ้นไทยแตะที่ระดับ 1,800 จุดได้ในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยที่สนันสนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นมาจากถ้อยแถลงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลัก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ของโลกและในประเทศปรับลดลงอย่างมาก ส่วนสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศจีน และประเทศสหรัฐนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองยังคงเดิม โดยคาดว่าจะมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายในเดือน ก.ค. นี้
สำหรับปัจจัยที่ยังต้องติดตามในระยะสั้นนั้น คือ การประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย ในวันที่ 17-18 ก.ค. ที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียน และอาจเป็นแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บล.กสิกรไทย ยังมองว่า ธปท. จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ต่อปี เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย และเสถียรภาพทางการเงินเอาไว้
ส่วนการเมืองในประเทศนั้น มองว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาหนุนตลาด โดยปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง คือ ภายหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว มองว่านโยบายสำคัญ และนโยบายแรกที่จะออกมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน และมีผลต่อเศรษฐกิจทันที โดยเฉพาะมาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อย่างไรก็ตามควรที่จะมีนโยบายที่เข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
นายภาสกร กล่าวถึงกลยุทธ์ในการลงทุน ว่า กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยในประเทศยังน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยหุ้นที่น่าสนใจ เช่น CPALL ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ CK ,STEC ที่จะได้ประโยชน์จากการเร่งประมูลโครงการของภาครัฐ AMATA ที่ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน โดยเริ่มเห็นการย้ายฐานจากจีนมายังเวียดนาม มากขึ้น
ขณะที่กลุ่ม ICT น่าสนใจ เนื่องจากตลาดมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อทิศทางการเติบโตของรายได้กลุ่มมือถือ จากการแข่งขันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง การประเมินโอกาสที่ต้นทุนจะปรับลดลงจากการยุติบริการ 2G ที่ต่ำเกินไปของตลาด
พร้อมกันนี้กลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ยังถือว่าน่าสนใจ เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ส่วนต่างผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยการที่กองทุนพันธบัตรจะต้องเสียภาษี 15% จากรายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น และโอกาสที่จะมีเกณฑ์กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ใหม่ ที่มีเงื่อนไขสัดส่วน 50% ต่อมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF)