ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ CPALL เป็นระดับ"AA-"จาก "A+" แนวโน้มเครดิต "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 10, 2019 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) เป็นระดับ "AA-" จากเดิมที่ระดับ "A+" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงการมีโครงสร้างทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นและกระเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัท

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ "AA-" จากเดิมที่ระดับ "A" ด้วย โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 20% ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย ตลอดจนลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การมีเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มผู้ค้าปลีกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งส่งผลกระทบในด้านลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สถานะและภาพรวมทางการเงินที่ดีขึ้น

ความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการเพิ่มยอดรายได้ในกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้จะมีค่าใช้จ่ายก่อนการดำเนินงานจากการขยายสาขาไปยังต่างประเทศของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) อยู่ในระดับที่สูงก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 9.3%-9.5% ในระหว่างปี 2560 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2562 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 49,337 ล้านบาทในปี 2561 และ 13,228 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562 จาก 46,603 ล้านบาทในปี 2560

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแหล่งรายได้และกำไรจากการให้บริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ได้แก่ การเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์และบริการรับส่งพัสดุ จากสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 56,100 ล้านบาทในปี 2564

หนี้สินของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการขยายสาขาของทั้งร้านค้า 7-Eleven และแม็คโครอย่างต่อเนื่องก็ตาม บริษัทมีเงินกู้รวมอยู่ในระดับสูงจากการซื้อกิจการของบริษัทสยามแม็คโครในช่วงปลายปี 2556 อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นจำนวนมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้ขายหุ้นของบริษัทสยามแม็คโครไปบางส่วนเพื่อนำมาใช้ชำระหนี้ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงอย่างมาก โดยมาอยู่ที่ระดับ 3.4 เท่าในปี 2561 และ 3.3 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 จากระดับ 5.5 เท่าในปี 2557

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งประกอบด้วยการขยายจำนวนร้านค้า 7-Eleven ประมาณ 700 ร้านและห้างแม็คโครอีกประมาณ 8-10 สาขาต่อปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะเพียงพอสำหรับแผนการลงทุนของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.4 เท่าในปี 2564 ในกรณีที่ไม่มีการขายหุ้นในบริษัทสยามแม็คโคร

การชำระคืนหนี้ที่มีหลักประกัน

ก่อนหน้านี้ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 33,000 ล้านบาทของบริษัทในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ขั้นเพื่อสะท้อนสถานะในการมีสิทธิ์เรียกร้องการชำระหนี้ในทรัพย์สินของบริษัทที่ด้อยกว่า โดยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทลดลงจากระดับ 92,072 ล้านบาทในปี 2560 (คิดเป็น 25.6% ของสินทรัพย์รวม) มาอยู่ที่ระดับ 74,812 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 (คิดเป็น 19.9% ของสินทรัพย์รวม) และทริสเรทติ้งคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 68,785 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 (คิดเป็น 18.0% ของสินทรัพย์รวม)

รายได้เติบโตปานกลาง

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเติบโตในระดับ 6%-7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจัยที่ช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้จะมาจากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

รายได้จากการดำเนินงานรวมเท่ากับ 527,540 ล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่า 8%-11% ในระหว่างปี 2558-2560 การเปิดสาขาใหม่ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มรายได้ ในขณะที่ยอดขายในสาขาเดิมเติบโตในระดับที่ต่ำกว่า ยอดขายในสาขาเดิมของ 7-Eleven เติบโต 3.2% ในปี 2561 ในขณะที่ยอดขายในสาขาเดิมของห้างแม็คโครลดลง 0.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ตกต่ำ

ในไตรมาสแรกของปี 2562 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอยู่ที่ 138,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตคือการเปิดร้านใหม่ของ 7-Eleven รวมถึงยอดขายเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น และราคาผลิตภัณฑ์จากสุกรที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ยอดขายในผลิตภัณฑ์อาหารของห้างแม็คโครเพิ่มขึ้น

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี

บริษัทมีสภาพคล่องที่ดี กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินสดในมือของบริษัทมีเพียงพอสำหรับใช้ในการชำระหนี้ รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุน และจ่ายเงินปันผลตามปกติ กระแสเงินสดเพื่อรองรับภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 21.4% ในปี 2561 และ 22.1% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) จากระดับ 18.4% ในปี 2560 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 5.1 เท่าในปี 2561 และ 5.5 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 4.7 เท่าในปี 2560

เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อ

บริษัทซีพี ออลล์ มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย บริษัทดำเนินธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้าสากล "7-Eleven" ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ร้านค้า 7-Eleven มีจำนวนคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของร้านค้าสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศไทย ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีร้านค้า "7-Eleven" ทั้งหมด 11,299 ร้านทั่วประเทศ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ของจำนวนร้านค้าทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่เหลือ 56% อยู่ในต่างจังหวัด นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกอีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสาขาของร้านค้า 7-Eleven มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 6%-7% ต่อปี

อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในช่วงระหว่าง 22.4%-23.0% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 8.7%-9.2%

ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2564

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสามารถมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีต่อไปได้ การมีเงินสดในมือในระดับที่สูงและเสถียรภาพในการสร้างกระแสเงินสดจะช่วยหนุนความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทในช่วงการขยายการลงทุน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในระยะใกล้นี้มีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตครั้งล่าสุด ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด หรือบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเกินกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่องยาวนานในระดับหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ