นายชัยพล พรพิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายสงเสริมและพัฒนาธุรกิจ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนรวม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ใน EEC ที่บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งหมด 4 โครงการ พื้นที่รวมกว่า 5,000 ไร่ ที่อยู่ในต.บ่อวิน จ.ชลบุรี, อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี, แหลมฉบัง จ.ระยอง และล่าสุดในต.เขาคันทรง จ.ชลบุรี ซึ่งการลงทุนในแต่ละโครงการเฉลี่ยมีการลงทุนโครงการละ 2-2.5 พันล้านบาท โดยที่นิคมอุตสาหกรรมใน EEC จะเข้ามารองรับกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหลัก
นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ในจ.พระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติมอีก 1,500 ไร่ เงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งจะมารองรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทยังมีที่ดินในมืออีก 1,000 ไร่ ที่สามารถนำมาพัฒนาได้ในอนาคต หากมีความต้องการใช้พื้นที่ของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น
สำหรับเป้าหมายการขายที่ดินในปีนี้บริษัทตั้งไว้ 400-500 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยที่ในครึ่งปีแรกขายที่ดินไปได้แล้วมากกว่า 100 ไร่ ซึ่งยังมีที่ดินที่เตรียมที่จะเซ็นสัญญาขายกับลูกค้าเพิ่มเติมอีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ขณะที่บริษัทมีที่ดินที่เป็นยอดขายรอโอน (Backlog) ในปัจจุบันที่ 500 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะทยอยโอนได้เกือบทั้งหมดในช่วงครึ่งปีหลังนี้
สำหรับภาพธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปีนี้ นายชัยพล มองว่ายังขยายตัวได้ดี โดยจะเห็นกลุ่มลูกค้าจากจีนและญี่ปุ่นในปัจจุบันที่เข้ามาติดต่อซื้อขายที่ดินกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และลูกค้าจีนส่วนใหญ่ยังคงสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกันค่อนข้างมาก ส่วนผู้ประกอบการไทยนั้นจะเห็นว่าปัจจุบันกลุ่มลูกค้าประเภทเอสเอ็มอีเริ่มมองหาพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำมารองรับการผลิตสินค้าและรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต และมองว่าการผลักดันโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมาเป็นแรงกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้กลับมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มนิมคมอุตสาหกรรม
"เราเชื่อว่าประเทศ ไทยยังมีการขยายตัวในด้านการลงทุน เพราะถือว่าประเทศที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี และรัฐบาลก็มีการผลักดันการลงทุนโครงการต่างๆออกมา แม้ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นค่าแรงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่า แต่ก็ต้องมีดูในเรื่องของฝีมือแรงงาน และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งของไทยเราก็ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เรามองว่าโดยรวมแล้วกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในไทยยังขยายตัวได้"นายชัยพล กล่าว