นายศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท Golden Lake Co., Ltd หรือ (GL) เพื่อร่วมทุนจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ Mai Khot Coal Company โดย SQ ถือหุ้นในสัดส่วน 70% และ GL ถือหุ้นในสัดส่วน 30% เพื่อรับสิทธิทำเหมืองถ่านหินเมืองก๊ก ตั้งอยู่ในรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้นที่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะทยอยเพิ่มทุนจดทะเบียนเข้าไปอย่างต่อเนื่อง
บริษัทวางงบลงทุนไว้ไม่เกิน 300 ล้านบาท (เฉพาะ SQ) เพื่อดำเนินการพัฒนาเหมืองถ่านหินดังกล่าวในเฟสแรก โดยหลังจากนี้จะเริ่มเข้าไปพัฒนาได้ในทันที คาดว่าจะสามารถส่งออกถ่านหินได้ในช่วงกลางปี 63 และตั้งเป้าส่งออกถ่านหินไว้ที่ 3 แสนตัน/ปี โดยจะจำหน่ายถ่านหินให้กับกลุ่มโรงไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีอัตรากำไรสุทธิมากกว่า 10% ภายใต้สมมติฐานราคาถ่านหิน 3,000 บาท/ตัน
ขณะที่บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ 2.7 หมื่นล้านบาทภายใน 28 ปี แบ่งเป็น รายได้จากการจำหน่ายถ่านหิน (ภายใต้บริษัทร่วมทุน) มากกว่า 22,000 ล้านบาท และรายได้จากการรับงานทำเหมืองถ่านหินจากโครงการนี้ในเฟสแรกประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอด 28 ปี
ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้หลักมาจากธุรกิจการรับเหมาทำเหมืองแร่ภายใต้สัญญาระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท หงสา พาวเวอร์ จำกัด (ในกลุ่มของ บมจ. บีพีพี พาวเวอร์) คาดว่าในปี 63 บริษัทจะมีรายได้จากการจำหน่ายถ่านหินเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งมองสัดส่วนรายได้ในปีหน้าจะอยู่ที่ 75% และ 25% ตามลำดับ
"การได้สิทธิในการทำเหมืองถ่านหินจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญของบริษัทจากการเป็น ผู้รับเหมางานเหมืองแร่ สู่การเป็นผู้รับสิทธิพัฒนาเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ ระยะเวลาประมาณ 30 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีพื้นฐานธุรกิจที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นจากการมีรายได้หลัก 2 ด้าน คือ รายได้จากการจำหน่ายถ่านหินและจากรายได้หลัก คือการรับเหมาทำเหมืองแร่ภายใต้สัญญาระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และ บริษัท หงสา พาวเวอร์ จำกัด (ในกลุ่มของ บมจ. บีพีพี พาวเวอร์) ซึ่งรองรับการรับรู้รายได้ประมาณ 9 ปี"
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บริเวณเหมืองถ่านหิน เมืองก๊ก ของเมียนมาเพื่อต่อยอดธุรกิจเหมืองถ่านหิน และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ คาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ภายในปลายปีนี้ เบื้องต้นมองปริมาณถ่านหินที่เหลือจากการจำหน่ายจะสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ 600 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบอนุญาติสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกับทางรัฐบาลกลางของเมียนมา เนื่องจากเศรษฐกิจบริเวณนั้นมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้สูง จากการเปิดประเทศของเมียนมา ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มมากขึ้นและการลงทุนภาคอุตสาหกรรมกำลังจะขยายตัว ที่สำคัญยังไม่มีโรงไฟฟ้ารองรับการขยายตัวดังกล่าว
นายศาศวัต กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมในปี 63 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีนี้คาดโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 3,624.10 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้การจำหน่ายถ่านหินเข้ามา ขณะที่ในปีนี้บริษัทฯ ก็เตรียมเซ็นสัญญารับงานส่วนต่อขยายเหมืองหงสาในสัปดาห์หน้า มูลค่า 2,000 ล้านบาท และเตรียมประมูลงานเหมืองหงสาเพิ่มเติมอีก มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท