นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแผนการส่งมอบพื้นที่เวนคืนในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตรวันนี้ว่า ได้มีการพูดคุยการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในโครงการนี้ที่มีจำนวน 4,421 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ดอนเมือง พญาไท สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดย รฟท.สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีจำนวน 3,151 ไร่หลังจากลงนามสัญญาที่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือน ก.ค.นี้
ส่วนพื้นที่ที่ยังมีข้อติดขัอยู่ ได้แก่ พื้นที่ที่มีผู้บุกรุกจำนวน 513 ราย รวม 210 ไร่ คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี นับจากวันลงนามจึงจะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ โดยมีงบ 200 ล้านบาทเป็นค่าชดเชย ค่าดำเนินการ ทำรั้วกั้น, พื้นที่เช่าจำนวน 83 สัญญา รวม 210 ไร่ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ในเวลา 1 ปีนับจากวันลงนาม โดย รฟท.ต้องหยุดสัญญากับผู้เช่าด้วยการแจ้งล่วงหน้า รวมทั้งมีพื้นที่เวนคืนที่รอออก พ.ร.ฎ.เวนคืน จำนวน 850 ไร่ คาดว่าใช้เวลา 2 ปีนับจากวันลงนาม
ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ในมักกะสัน 142.26 ไร่ รฟท.โอนให้กลุ่มซีพีได้ทันที ส่วนที่เหลือจำนวน 9.31 ไร่ เป็นที่วางพวงรางจะให้ซีพีรื้อย้ายโดย รฟท.ให้งบอุดหนุน 300 ล้านบาท ด้านพื้นที่ศรีราชา 27.45 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านพักพนักงานรถไฟ ก็จะให้ซีพีสร้างอาคารใหม่ 3 อาคารในฝั่งตรงข้ามใช้ทดแทน ส่วนนี้ซีพีเป็นผู้ออกงบเอง
นายสุจิตต์ กล่าวว่า รฟท.จะส่งข้อสรุปแผนการส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีในวันที่ 15 ก.ค.เพื่อไปเทียบกับแผนการก่อสร้างของกลุ่มซีพี และจะนัดหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อได้ข้อสรุปเสนอคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของโครงการก่อนลงนาม
นอกจากนี้ยังต้องหารือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบการทุบเสาโฮปเวลล์ที่มีกว่า 200 ต้น ค่าใช้จ่ายต้นละ 200,000 บาท ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้ข้อตกลง ซึ่งก็ต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนลงนามในสัญญาเช่นกัน
"เรามองว่าซีพีควรเป็นฝ่ายรื้อย้ายเสาโฮปเวลล์ ซีพีเขาก็มองว่ารถไฟควรเป็นคนรื้อย้าย ก็ต้องมาคุยกัน" นายสุจิตต์ กล่าว