SCB Wealth Holistic Experts คลังสมองผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและต่อยอดสร้างความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดมุมมองช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเห็นว่านโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐ และทั่วโลก จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุน ในขณะที่ความขัดแย้งทางการค้ายังคงยืดเยื้อ และขยายตัวไปยังหลายประเทศ ส่งผลต่อความผันผวนของทิศทางตลาดต่อไป ส่วนตลาดหุ้นไทยคาดว่า SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,700-1,750 จุด จากการเมืองมีความชัดเจนขึ้น โดยรัฐบาลใหม่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ได้รับปัจจัยหนุนจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น พร้อมแนะหุ้นเด่นในไตรมาส 3/62 เน้นไปที่หุ้นที่อ้างอิงปัจจัยในประเทศที่มีการเติบโตและได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดใหญ่ Investment Advisory จากหน่วยงานศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ของ SCB กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังของปีนี้แนวโน้มนโยบายการเงินมีความผ่อนคลาย จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลก จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุน ในขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าจะยืดเยื้อและไม่จบลงง่าย ๆ แม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯจะมีการพบกับผู้นำจีนนอกรอบในการประชุม G20 ครั้งที่ผ่านมา จนส่งผลให้ sentiment ของตลาดดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีความขัดแย้งในหลาย ๆ ประเทศที่ทยอยเกิดขึ้นตามมา ก็ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดที่จะมีความผันผวนได้
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 3/62 ในระยะสั้นยังแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่แนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังปรับตัวดีขึ้นจากโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟด และจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งตลาดหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจในระยะสั้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงิน การคลัง และราคายังไม่แพงเมื่อกับตลาดหุ้นในกลุ่มพัฒนาแล้ว
ส่วนการลงทุนในระยะยาวนั้น มองว่าประเทศเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากการที่นักลงทุนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีไต้ เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าเวียดนามมีมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี นอกจากนี้ มูลค่าตลาดหุ้นเวียดนามและการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความน่าสนใจ ส่วนตลาดหุ้นไทยยังสามารถลงทุนในระยะยาวได้ เพราะยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเมืองในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในช่วงนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในทิศทางขาลง แต่มองว่าราคาตราสารหนี้ในรูปแบบดังกล่าวได้รับรู้ปัจจัยของการลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ไปมากแล้ว ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้จะส่งผลต่อ Yield curve ที่ปรับเพิ่มขึ้น และราคาตราสารหนี้จะปรับลดลงจากระดับปัจจุบันได้
ด้านนายสุกิจ อุดมศิริ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้า และการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น เพราะการเมืองมีความชัดเจนแล้ว รวมถึงสามารถดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุน โดยประเมินดัชนี SET ในช่วงครึ่งปีหลังจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,700-1,750 จุด แต่มองโอกาสที่ดัชนี SET จะขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,830 ได้ หากสงครามการค้าไม่ยืดเยื้อ ,เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย และรัฐบาลมีการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาชัดเจน เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดหุ้นไทย
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมองว่าตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำจากปัจจัยสงครามการค้า และการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนใกล้สิ้นสุดแล้ว โดยหุ้นที่เป็น Tops Picks ที่แนะนำในไตรมาส 3/62 จะเน้นหุ้นที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์กับปัจจัยในประเทศ จากความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแนะนำหุ้นกลุ่มธนาคาร ได้แก่ KTB ที่มีกำไรพิเศษจากจากการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของสินเชื่อ หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ AMATA และ ROJNA ที่ได้รับประโยชน์การวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ และการเดินหน้าลงทุนโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย่ และกลุ่มท่องเที่ยว ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ในระยะยาวด้วย
นายสาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planing & Family Office) ของ SCB กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกองทุนรวมที่จะมีผลบังคับไช้ในวันที่ 20 ส.ค.62 โดยมีผลเฉพาะกับสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ใหม่หลังกฏหมายใช้บังคับ อาจทำให้ผลตอบแทนรวมของกองทุนอาจลดลง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะทรัพย์สินภายในกองทุนมีทั้งตราสารหนี้เก่าที่ได้รับการยกเว้นภาษี และตราสารหนี้ใหม่ที่ถูกจัดเก็บภาษี ทำให้กองทุนยังมีเวลาปรับตัวก่อนถึงเวลาที่กฏหมายมีผลบังคับใช้
ในส่วนของกองทุนรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปลายปี 62 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพิจารณารูปแบบของกองทุนใหม่ที่จะมาทดแทน โดยกองทุนรูปแบบใหม่จะมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนโดยเน้นรูปแบบการลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและหุ้นยั่งยืน บรรษัทภิบาล หุ้นเอสเอ็มอี และหุ้น S-Curve โดยข้อกำหนดและระยะเวลาการถือครอง รวมถึงจำนวนสูงสุดในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะต้องขอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาพิจารณา
นอกจากนี้ยังมองว่าการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมาอยู่ที่สูงสุด 10% จากเดิมที่ 35% ซึ่งต่ำกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% ทำให้เป็นปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศให้เพิ่มขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับลด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยภายในประเทศ ในภาวะที่ปัจจัยภายนอกมีความผันผวนและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับการเดินหน้าผลักดันการลงทุนและเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยังเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ผ่านการกระตุ้นโดยใช้นโยบายการเงินและการคลัง