นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปีนี้ น่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากในไตรมาส 4/62 จะมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 20 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH 1, TPCH 2 จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 60 เมกะวัตต์ ของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือทั้งหมด 110 เมกะวัตต์ ทำให้ทั้งปี 62 จะสามารถ COD ได้รวม 80 เมกะวัตต์ ซึ่งจะผลักดันรายได้และกำไรปีนี้ทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ตามเป้าหมาย
ขณะเดียวกันบริษัทฯก็อยู่ระหว่างรอผลการประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอ่อนนุช ขนาด 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะรู้ผลในช่วงเดือนส.ค.62 โดยหากชนะการประมูล ก็เตรียมที่จะออกหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว
นอกจากนี้ภายหลังจากการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีกำลังการผลิตติดตั้งที่ 10 เมกะวัตต์ ดำเนินการภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% บริษัทฯ ก็เตรียมเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวในเดือนส.ค.นี้ คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท และน่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 63 เป็นต้นไป โดยมีอัตราการรับซื้อค่าไฟฟ้าในรูปแบบ FIT ราคาหน่วยละ 5.78 บาท อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้รับสัมปทานการบริหารจัดการระบบการนำขยะมูลฝอยจากหลุมฝังกลบมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า ปริมาณ 3.8 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้ามากถึง 27 ปี
สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2561-2580 (PDP2018) ที่ภาครัฐให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขยะชุมชน ได้มีการประกาศเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขยะชุมชนจากเดิม 500 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 900 เมกะวัตต์ และชีวมวลเพิ่มอีก 110-120 เมกะวัตต์ บริษัทฯ มองว่าจะเป็นช่องทางให้สามารถขยายการลงทุนได้เพิ่มขึ้น โดยในประเทศจะมุ่งเน้นไปที่โรงไฟฟ้าขยะเป็นหลัก
ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลจะขยายไปยังต่างประเทศ โดยมองการลงทุนทั้งในรูปแบบการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และการเข้าไปร่วมลงทุน (JV) ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สในเมียนมา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ปลายปีนี้ เบื้องต้นคาดมีขนาดกำลังการผลิตประมาณ 5-6 เมกะวัตต์ และน่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ โดยจะต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 15%