นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ในงาน Bangkok Fintech Fair 2019 ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทยได้นำเสนอเทคโนโลยีทางการเงินที่ล้ำสมัย มาพัฒนาบริการที่สนับสนุน 5 Ecosystems หลักของธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา และกลุ่มระบบขนส่งมวลชน อันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อยกระดับการให้บริการแบบครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ดิจิทัล ที่มุ่งสู่การเป็น Invisible Banking หรือธุรกรรมในอากาศที่ติดตัวและเคลื่อนที่ไปกับลูกค้าทุกที่ทุกเวลา
กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ธนาคารได้นำเทคโนโลยี Face Authentication ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบใบหน้ายืนยันตัวตนของลูกค้า โดยนำภาพถ่าย มาใช้กับแอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ ในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อการชำระเงินของร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และเตรียมนำระบบ Face Authentication มาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น การเปิดบัญชีผ่านแอพพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT ซึ่งมีการตรวจสอบและยืนยันตัวตนแบบ Colour Reflection-based Liveness Detection สามารถป้องกันการปลอมแปลงโดยใช้รูปถ่ายและวีดีโอ
กลุ่มการชำระเงิน ธนาคารได้พัฒนา แอพพลิเคชั่น เป๋าตุง รองรับการจ่ายเงินด้วย QR และ แอพพลิเคชั่น ถุงเงินประชารัฐ ที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าระหว่างร้านค้ากับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและทั่วถึง
กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล ธนาคารได้ติดตั้ง Self-Payment Machine คือตู้ Kiosk ที่เก็บรวบรวมฐานข้อมูลของคนไข้ ในโรงพยาบาล โดยสามารถใช้บริการได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่ระบบการจองคิว ตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาลการ ชำระเงิน การออกใบเสร็จ และการแสดงผลการชำระเงิน รวมทั้งพัฒนา Self-Payment Service ตลอดจนพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลด้านการรับชำระระหว่างโรงพยาบาลและธนาคาร ผ่านระบบ Krungthai Corporate Online
กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา ธนาคารนำ แอพพลิเคชั่น เป๋าตัง ซึ่งเป็นเสมือนกระเป๋าเงินมาเพิ่มช่องทางในการตรวจสอบยอดกำหนดชำระ ยอดค้างชำระรายละเอียดการกู้ยืม และชำระหนี้ กยศ. และในอนาคตจะรองรับกระเป๋าเงินอื่นๆ ของภาครัฐ โดยสามารถใช้งาน โอนเติมจ่าย ง่ายๆ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทางการเงิน
กลุ่มระบบขนส่งมวลชน ธนาคารได้ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พัฒนาระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless Payment) นำร่องติดตั้ง QR Code และเครื่องอ่านบัตรแบบมือถือ (Handheld) รถเมล์ปรับอากาศ สาย 510 จำนวน 40 คัน รองรับชำระค่าโดยสารด้วย QR Code บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรรถเมล์ รวมทั้งติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E Ticket) ในรถเมล์ ขสมก. อีกจำนวน 3,000 คัน รองรับผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเตรียมเชื่อมโยงระบบบัตรโดยสารร่วม (Common Ticket) กับระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ