นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น (PACE) เปิดผยว่า ดีน แอนด์ เดลูก้า (Dean & Deluca) ดำเนินการปรับโครงสร้างแยกบริษัทเป็นอเมริกาและเอเชียเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยปัจจุบัน ดีน แอนด์ เดลูก้า อิงค์ ซึ่งบริหารร้านสาขาในอเมริกา ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้เข้ากับภาวะตลาดฟู้ดรีเทลที่ท้าทายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในอเมริกา โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับขนาดธุรกิจให้เหมาะสม (rightsized) ควบคุมค่าใช้จ่าย และควบรวมการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในสาขาที่ไม่สามารถทำยอดขายและกำไรได้ตามเป้า เพื่อผลักดันให้สาขาอเมริกาหยุดขาดทุนภายในสิ้นปีนี้
ส่วนดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการร้านสาขาในประเทศไทย และยังดำเนินการให้ลิขสิทธิ์แบรนด์ สิทธิแฟรนไชส์ รวมถึงสิทธิการขายสินค้าในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียนั้น ยังสามารถทำยอดขายและสร้างผลตอบแทนให้บริษัทได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบัน ดีน แอนด์ เดลูก้า (ประเทศไทย) มีสาขาทั้งหมด 11 สาขา และแผนจะเปิดสาขาใหม่อีก 5 สาขาภายในปี 62 โดยแบ่งเป็น 2 สาขาที่ภูเก็ต และอีก 3 สาขาในกรุงเทพฯ
"แผนธุรกิจต่อไปของ ดีน แอนด์ เดลูก้า คือการขยายแบรนด์และต่อยอดความสำเร็จของ ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) รวมถึงการเดินหน้าให้ธุรกิจแฟรนไชส์ ในเอเชียและทั่วโลกให้มั่นคงและมีประสิทธิภาพ และเดินหน้าปรับขนาดธุรกิจในอเมริกาให้พอเหมาะ เพื่อต่อสู้กับความท้าทาย ตัดค่าใช้จ่าย และหยุดการขาดทุนให้สำเร็จ"นายสรพจน์ กล่าว
นายสรพจน์ กล่าวว่า กลยุทธ์การขยายธุรกิจของแบรนด์ร้านดีน แอนด์ เดลูก้า ในส่วนของภูมิภาคเอเชียและในไทย ปัจจุบันจะเน้นไปที่การขยายสาขาผ่านการขายสิทธิแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้ขยายสาขากระจายได้ครอบคลุมหลากหลายพื้นที่ และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายสาขา อีกทั้งยังมีรายได้จากการขายสิทธิและรายได้จากการขายวัตถุดิบและสินค้าเข้ามาด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจหลายรายเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ทั้งในประเทศไทยและในเอเชีย
สำหรับแผนการขยายร้านดีน แอนด์ เดลูก้า ในช่วง 3-5 ปีนี้ บริษัทตั้งเป้าขยายเพิ่มในเป็น 100 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 11 สาขา โดยที่จะขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเริ่มขยายในหัวเมืองท่องเที่ยวหลักในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สมุย เชียงใหม่ และเชียงราย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันใน 4 พื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สมุย มีผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดแล้ว คือ บริษัท สกายไนน์ทีน จำกัด ซึ่งจะเปิด 2 สาขาในภูเก็ตภายในปีนี้
ส่วนสาขาใหม่ในกรุงเทพฯที่จะเปิดอีก 3 สาขาในปีนี้ เป็นการลงทุนของบริษัทซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 30 ล้านบาท ได้แก่ สาขาสินทร หลังสวน ที่จะเป็นสาขารูปแบบแฟล็กชิป ทดแทนสาขามหานคร คิวบ์ ที่ปิดไปเนื่องจากหมดสัญญาเช่า พร้อมกับจะเปิดสาขาใหม่ที่สามย่านมิตรทาวน์ และสาขาในพื้นที่ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง
ด้านการขยายสาขาในภูมิภาคเอเชียอื่น ๆ เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีอยู่ในฮ่องกง และญี่ปุ่น บริษัทสนใจที่จะขยายเข้าไปในอินโดนีเซีย อินเดีย และไต้หวัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ ส่วนในจีนที่มีผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว คือ Kinghill Overseas Holding Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่วางแผนเปิดและบริหารจัดการร้านกาแฟและมาร์เก็ตของร้านดีน แอนด์ เดลูก้าในจีน โดยตั้งเป้าขยายสาขาทั้งหมด 500 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทำเลที่ตั้งและศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งยอมรับว่าในประเทศจีนมีค่าเช่าที่ดินที่แพงมาก ทำให้การตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งของสาขาต้องใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจนาน แต่คาดว่าในปี 63 จะสามารถเปิดสาขาแรกในประเทศจีนได้ ซึ่งบริษัทมองว่าโอกาสการเติบโตของร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้า ในจีนจะมีมากขึ้น เพราะมีจำนวนประชากรที่มาก และประชาชนจีนรุ่นใหม่เริ่มหันมาดื่มกาแฟสดมากขึ้น
ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของดีน แอนด์ เดลูก้า ระหว่างเอเชียและอเมริกา อยู่ที่ 65:35 โดยดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย เป็นบริษัทที่ยังสามารถทำกำไรให้กับบริษัท และมียอดขายเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยในปี 61 มีกำไรอยู่ที่ 25 ล้านบาท
แต่ดีน แอนด์ เดลูก้า อเมริกา ยังมีผลการขาดทุนอยู่ เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ที่อยู่ในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท/ปี และพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงไปจากการที่ซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารเองที่บ้าน มาเป็นการซื้ออาหารมาทานที่บ้านหรือการใช้บริการส่งอาหารมาทานที่บ้าน และการออกมาทานอาหารนอกบ้าน ทำให้กระทบต่อในส่วนการขายวัตถุดิบปรุงอาหารในร้านดีน แอนด์ เดลูก้า ทำให้บริษัทต้องมีการปรับรูปแบบร้านใหม่ รวมไปถึงการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรไป ซึ่งปัจจุบันเหลือ 4 สาขา จบปี 57 ที่มี 11 สาขา และเตรียมที่จะรวบรวมสำนักงานในอเมริกาที่ตั้งอยู่ใน 3 เมือง ให้เหลือเพียงที่เดียวในนิวยอร์ก เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลง และทำให้ดีน แอนด์ เดลูก้า กลับมาคุ้มทุนได้ภายในปีนี้ หลังจากที่บริษัทซื้อมา 5 ปี
ปัจจุบัน ดีน แอนด์ เดลูก้า มีอยู่ทั้งหมดใน 12 ประเทศ จำนวน 77 สาขา เพิ่มขึ้นจากช่วงที่บริษัทซื้อกิจการมาในปี 57 ที่มีใน 6 ประเทศ จำนวน 42 สาขา
นายสรพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับส่วนสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และจากธุรกิจดีน แอนด์ เดลูก้า นั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพราะหากมีการโอนโครงการอสังหาริมทรัพย์เข้ามามาก ก็จะทำให้มีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น และรายได้จากดีน แอนด์ เดลูก้า จะมีสัดส่วนที่ลดลง