บลจ.แอสเซท พลัส ตั้งเป้าออกกองทุนใหม่เพิ่มอย่างน้อย 10 กองทุนในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 13, 2008 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะออกกองทุนใหม่หลายกองภายในปีนี้ ประกอบด้วย กองทุน FIF อย่างน้อย 4 กอง และกองทุนตราสารหนี้อีกอย่างน้อย 7-8 กอง ทั้งตราสารหนี้ทั่วไป และตราสารหนี้ที่ใช้อนุพันธ์เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลตอบแทน (Index Enhanced) ซึ่งอ้างอิงกับตลาดทุน เพื่อเข้ามาเสริมกองทุนเดิมที่จะครบอายุ และรองรับพ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝากที่จะมีผลบังคับใช้ในกลางปีนี้   
"ปีนี้เราเตรียมที่จะออกกองทุน FIF อย่างน้อย 4 กอง size ประมาณ 1.7 พันล้านบาทต่อกอง ส่วนกองทุนตราสารหนี้ทั้งปีคงมีอย่างน้อย 7-8 กอง เป็นแบบ Index Enhanced ประมาณ 4-5 กอง ซึ่งกองใหม่ที่จะออกจะแตกต่างจากกองที่มีอยู่แล้ว และคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน" นางลดาวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้ารายกลางและรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ของ AUM จากปัจจุบันที่บริษัทมีสัดส่วนลูกค้าสถาบันและลูกค้ารายใหญ่ที่ลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป รวมกันสูงถึง 70% ของ AUM เพราะเชื่อว่าหลังจากมีการบังคับใช้พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝากแล้ว นักลงทุนจะหันมาหาช่องทางการลงทุนในตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น
"ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราไม่เน้นลูกค้ารายกลางและรายย่อย แต่เพราะข้อจำกัดของบริษัทที่มีขนาดเล็ก และไม่มีช่องทางการขายจำนวนมากเหมือนบลจ.ที่เป็นแบงก์ ขณะเดียวกันลูกค้ารายย่อยก็ชอบใช้บริการผ่านช่องทางของแบงก์มากกว่า โอกาสที่เราจะเข้าถึงลูกค้ารายย่อยจึงค่อนข้างยาก"
สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ บริษัทฯ คาดว่า SET Index มีโอกาสแตะระดับ 1,000 จุด เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนในปีนี้น่าจะสดใส หลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ และมีโครงการต่างๆ ของภาครัฐออกมา โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ ทำให้นักลงทุนภาคเอกชนมีความมั่นใจและกล้ากลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น
นางลดาวรรณ ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ว่า หากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกมาตรการ 30% จริง ก็คงไม่ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่นักลงทุนรับรู้มาระดับหนึ่งแล้ว แต่หากไม่มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดูไม่ดีในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ เพราะเหมือนว่าไม่เปิดประเทศให้มีเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินในภูมิภาค
ส่วนการออกมาตรการอื่นๆ เพื่อมาดูแลค่าเงินบาทแทนมาตรการ 30% ก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นเหมือนครั้งที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ