"เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น"ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO 80 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายธุรกิจ-ใช้คืนเงินกู้ เข้า mai ปลายปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 24, 2019 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น (TPS) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้กับประชาชน จำนวน 72,000,000 หุ้น และเสนอขายให้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 8,000,000 หุ้น โดยบริษัทมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

น.ส.พัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จำนวนเสนอขายหุ้น IPO 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จดทะเบียนแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ปลายปี 62

TPS ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Solutions Provider: ITP) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้ 1) ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 2) ธุรกิจให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย 3) ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ

วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ TPS เตรียมนำเงินไปใช้ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center) คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการและติดตั้งระบบงานประมาณ 4 เดือนภายหลังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของบริษัทฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.62คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการศูนย์ดังกล่าวในเดือน เม.ย.63, การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อแสดงระบบรักษาความปลอดภัยและและระบบสื่อสารครบวงจร (DEMO Data Center,Security&Collaboration) คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย.63, ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จากการลงทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่

นอกจากนั้น บริษัทฯ มีนโยบายที่จะขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการรับงานโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากลูกค้าทั้งหน่วยงานของรัฐแซึ่งมีแผนการลงทุนเพื่อส่งเสริมสังคมดิจิทัลและสร้างการเข้าถึงการใช้บริการสื่อสารอย่างเท่าเทียมตามตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหน่วยงานภาคเอกชนที่มีแนวโน้มการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่จะรับงานโครงการที่มีขนาดใหญ่ บริษัทฯ จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นรวมถึงการใช้เงินเพื่อค้ำประกันการยื่นซอง (Bid Bond), การปฏิบัติตามสัญญา (Performance Bond) และผลงาน ("Retention Bond") ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยบริษัทคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในครั้งนี้เพื่อสนันสนุนแผนงานดังกล่าวของบริษัทฯ

"ความน่าสนใจของ TPS คือ เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือจากองค์กรและบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมในด้านเทคโนโลยีมามากกว่า 15 ปี ประกอบกับผู้บริหารโดยเฉพาะทีมบริหาร ที่มีประสบการณ์กับธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำระดับประเทศ ความไว้วางใจกับพันธมิตรทางธุรกิจ จึงมีประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี ส่งผลให้ปัจจุบันลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ภาครัฐและเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษาโรงพยาบาล ฯลฯ" น.ส.พัชพร กล่าว

ด้านนายบุญสม กิจเกษตรสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPS กล่าวว่า เป้าหมายของการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างการเติบโตและโอกาสในการขยายธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง นำพาองค์กรเดินไปข้างหน้า ด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ มุ่งมั่นทุ่มเทและบริการที่มีคุณภาพให้แก่ลูกค้าได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ

"อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจากตัวเลขพบว่ามีมูลค่าประมาณ 6.1 แสนล้านบาทในปี 61 หรือมีสัดส่วน 3.9% ของ GDP มีอัตราการเติบโต 2.2% จากปี 60 ตลาดสื่อสารของประเทศไทย ขณะที่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยการ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเติบโตเช่นกัน ทำให้เรามั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน" นายบุญสม กล่าว

ผลการดำเนินงานของ TPS ในช่วงปี 59-60 บริษัทมีรายได้รวม 603.61 ล้านบาท และ 864.43 ล้านบาทตามลำดับ รายได้รวมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทได้งานโครงการจากหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งจำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 304.40 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทลดลงมาที่ 535.68 ล้านบาทในปี 61 เป็นผลมาจากการลดลงของมูลค่างานโครงการโดยเฉพาะการลดลงของงานโครงการจากหน่วยงานของรัฐ

ขณะที่งวด 3 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 142.54 ล้านบาท รายได้รวม 142.69 ล้านบาท ต้นทุนขายและบริการ 95.97 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9.59 ล้านบาท โดยรายได้รวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญกว่า 49.44% เนื่องจากบริษัทได้งานทั้งโครงการจากหน่วยงานของรัฐ และบริษัทเอกชนเพิ่มขึ้น

ณ 31 มี.ค.62 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 475.07 ล้านบาท หนี้สินรวม 276.38 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 198.69 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 140,000,000 บาท ซึ่งเป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 100,000,000 บาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯประกอบด้วย กลุ่มครอบครัว กิจเกษตรสถาพร ถือหุ้น 143,500,000 หุ้น คิดเป็น 71.75% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 51.26%, กลุ่มครอบครัว วิธวาศิริ ถือหุ้น 44,000,000 หุ้น คิดเป็น 22% จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 16.72%

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ