ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก (Positive Outlook) จากแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) สำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating- IDR) ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) พร้อมกันนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของ EXIM IBANK และ KTB
นอกจากนี้ฟิทช์ยังปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign-Currency IDR) ของ EXIM เป็น F1 จาก F2 และยกเลิกสถานะ "อยู่ระหว่างสังเกตการณ์ผลกระทบจากการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต" (Under Criteria Observation หรือ UCO)
อันดับเครดิตอื่นของ EXIM IBANK และ KTB ไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอันดับเครดิตในครั้งนี้ สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารทั้ง 3 แห่ง พิจารณาจากการคาดการณ์ว่ารัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคาร ดังนั้นอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารทั้ง 3 แห่ง จึงมีปัจจัยในการพิจารณาอันดับเครดิตหลักมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของแต่ละธนาคาร
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวในครั้งนี้สอดคล้องกับการที่ฟิทช์ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยเป็น "แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก" จากเดิม "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ" เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2562 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากประกาศอันดับเครดิตล่าสุดหัวข้อ "Fitch Revises Outlook on Thailand to Positive; Affirms at ‘BBB+’ " ลงวันที่ 18 กรกฏาคม 2562
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางกฎหมายในฐานะธนาคารรัฐภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังและถูกจัดตั้งขึ้นโดยกฏหมายเฉพาะเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ EXIM สอดคล้องกับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของประเทศไทย (รายละเอียดตามประกาศหัวข้อ " Fitch Upgrades Short-Term Ratings of Six Sovereigns, Removes from UCO" เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562) และสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตระยะสั้น (Short-Term Ratings Criteria) สำหรับธนาคารที่มีการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ IBANK อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย 2 อันดับ เนื่องจากบทบาทเชิงนโยบายของธนาคารที่อาจจะมีความสำคัญและความยั่งยืนในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ KTB มีปัจจัยพิจารณาหลักมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคาร โดยฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจาก KTB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่และเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และฟิทช์เชื่อว่า KTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ (systemically important) อีกทั้งยังมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อรัฐบาล สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากประกาศอันดับเครดิตล่าสุดหัวข้อ "Fitch Affirms Krung Thai Bank; Outlook Stable" ลงวันที่ 12 เมษายน 2562
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ฟิทช์เชื่อว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ EXIM IBANK และ KTB จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย โดยผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ EXIM IBANK และ KTB จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศไทยในกรณีที่ฟิทช์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมุมมองของโอกาสที่ธนาคารแต่ละแห่งจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันแนวโน้มอันดับเครดิตของทั้ง 3 ธนาคารอาจถูกเปลี่ยนแปลง หากแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยถูกปรับกลับมาเป็น "แนวโน้มมีเสถียรภาพ"
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมด มีดังนี้
IBANK
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB-’; ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก จากเดิม แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB-’
KTB
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB’; ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก จากเดิม แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB’
EXIM
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB+’ ; ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก จากเดิม แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น ‘F1’ จากเดิม ‘F2’ และยกเลิก UCO
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BBB+’