นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดทั่วโลก โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ต่างติดลบกันทั่วหน้า ตามตลาดในยุโรป และตลาดในสหรัฐฯปรับตัวลงกันหมด หลังจากผิดหวังผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ทำให้ตลาดฯคาดการณ์ว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในปลายเดือนก.ค.นี้ เฟดคงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯดีดตัวขึ้นแรง และเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อ Fund Flow
ส่วนบ้านเราเงินบาทเช้านี้อ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 เดือน ทำให้คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะซื้อน้อยลง หรือกลับมาขาย อย่างไรก็ดี ให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 2/62 ที่คาดว่าจะชะลอ ซึ่งก็ไม่เป็นผลบวกต่อตลาดฯในช่วงนี้
พร้อมให้แนวรับ 1,712-1,720 จุด ส่วนแนวต้าน 1,735-1,740 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (25 ก.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,140.98 จุด ลดลง 128.99 จุด (-0.47%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,003.67 จุด ลดลง 15.89 จุด (-0.53%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,238.54 จุด ลดลง 82.96 จุด (-1.00%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 56.35 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 9.30 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 188.23 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 43.16 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 11.13 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 17.70 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.84 จุด,ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 61.66 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (25 ก.ค.62) 1,730.90 จุด เพิ่มขึ้น 5.46 จุด (+0.32%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,311.40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (25 ก.ค.62) ปิดที่ 56.08 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 14 เซนต์ หรือ 0.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (25 ก.ค.62) ที่ 6.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.98/31.02 อ่อนค่าจากวานนี้ตามค่าเงินปอนด์ กังวล Brexit แบบไร้ข้อตกลง
- "แบงก์ชาติ" ยืนยัน ไม่ปิดกั้นเงินทุนต่างชาติ หากเข้ามาลงทุนระยะยาวสร้างประโยชน์ให้ประเทศ ย้ำไม่ต้อนรับเงินระยะสั้นหวังเก็งกำไรค่าเงิน ทั้งไม่เปิดเผยตัวตน พร้อมระบุนโยบายการเงินไทยเน้นตอบโจทย์ในประเทศ เป็นหลัก ด้าน "กสิกร" ประเมินระยะยาวถึงสิ้นปี แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่า เหตุไทยถูกมองเป็นแหล่งลงทุนปลอดภัย
- "ออมสิน" ลุ้นเศรษฐกิจไทย 62 โตถึง 3.6% รับอานิสงส์การเมืองในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ ช่วยหนุนเชื่อมั่นนักลงทุน ผู้บริโภคฟื้น แนะจับตาผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า พ่วงความล่าช้าในการเบิกจ่าย หวั่นกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านเอกชนประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลังโต 3% มองเฟดเตรียมลดดอกเบี้ย 0.25% ชมเปาะมาตรการสกัดบาทแข็งของแบงก์ชาติได้ผล
- ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการหอการค้าฯ เตรียมเข้าพบรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกกระทรวง เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและแนวทางร่วมมือกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยจะดำเนินการภายหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นเตรียมหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเป็นรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นต้น
- อัยการสูงสุดพบหลักฐานใหม่ขอฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์หมื่นล้าน หลัง "อาคม" อดีต รมว.คมนาคม มอบอำนาจให้อัยการฯยื่นหลักฐานขอศาลปกครองสูงสุดรื้อฟื้นคดีแล้วเมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา รอลุ้นศาลใช้เวลา 30 วัน ว่าจะรับหรือไม่รับพิจารณา "ศักดิ์สยาม" รับลูกให้สู้คดีถึงที่สุด ขณะที่คณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐ ยังมึนๆหาช่องทางจ่ายเงินไม่ได้
*หุ้นเด่นวันนี้
- ILM (บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์) เทรดวันนี้วันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สังกัดกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจพาณิชย์ โดยราคาขาย IPO 22 บาท/หุ้น โดบริษัทฯประกอบธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ของใช้ภายในบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผ่านช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งหน้าร้านค้าปลีก 4 แบรนด์หลักครอบคลุมลูกค้าทุกระดับ ภายใต้ชื่อ Index Living Mall, Trend Design, MOMENTOUS และ BoConcept ปัจจุบันร้าน Index Living Mall มี 36 สาขา ครอบคลุม 21 จังหวัดทั่วประเทศ มีร้านค้าตัวแทนจำหน่าย 25 ร้านค้าครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดและเมืองรอง และเครือข่ายร้านค้าปลีกในต่างประเทศผ่านรูปแบบตัวแทนจำหน่ายและแฟรนไชส์ 17 ร้านใน 7 ประเทศ ILM ยังได้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศอีกด้วย
- BCH (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 21 บาท ราคาหุ้น laggard เกือบที่สุดในกลุ่ม -7% 2019YTD และ -9% 2QTD สะท้อนกำไรที่ไม่สดใสใน Q2/62 ไปแล้ว นอกจาก low season ยังถูกกดดันชั่วคราวจากการตั้งสำรองส่วนของโรคซับซ้อนสูงหลัง สปส. จ่ายเงินน้อยกว่าคาด และมี Employee benefit ราว 30 ลบ. เราคาด -9% Q-Q, -10% Y-Y เป็น 225 ลบ. ด้านกำไร H2/62 จะกลับมาเติบโตแข็งแกร่งจากการได้รับเงินค่าภาระเสี่ยงอีก 50% หลังของงวดปี 2018 และเริ่มเปิด IVF ของ WMC ปลาย Q3/62 หักล้างรายได้จากศูนย์เบาหวานที่อาจชะลอเพราะชั่วโมงทำงานของแพทย์ลดลงได้
- TU (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า IAA Consensus 21.4 บาท ทยอยสะสมคาดผลกำไร Q2/62 เติบโตโดดเด่น จากต้นทุนทูน่าที่ลดลงราว 38%yoy ส่งผลให้ GPM รวมของ TU น่าจะสูงขึ้นจาก 13.8% ใน Q1/62 ไปเป็น 16% ผลบวกดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึง Q3/62