บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมไตรมาส 3/62 เพิ่มเป็น 356,000 บาร์เรล/วัน จากระดับ 334,627 บาร์เรล/วันในไตรมาส 2/62 ผลักดันให้ปริมาณการขายเฉลี่ยทั้งปี 62 เพิ่มจากเป้าหมายเดิมเป็น 345,000 บาร์เรล/วัน จากปัจจัยหนุนหลักการเข้าซื้อกิจการของ Murphy ในประเทศมาเลเซียที่มีผลสมบูรณ์ในวันที่ 10 ก.ค.62
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบของบริษัทจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-12 เดือน บริษัทคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของไตรมาส 3/62 และทั้งปี 62 จะอยู่ที่ราว 6.8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และ 6.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ตามลำดับ เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ด้านการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาส 2/62 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาประกันความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม
สำหรับไตรมาส 3/62 และทั้งปี 62 ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 32-33 และ 32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 70-75%
ปตท.สผ. ระบุอีกว่า สำหรับแนวโน้มราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปี 62 คาดว่าจะยังคงมีความผันผวน โดยเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากยังคงมีปริมาณการผลิตจากสหรัฐฯ ในระดับที่สูง และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหลังจากท่อขนส่งน้ำมันดิบขยายกำลังส่งได้ในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะชดเชยกับปริมาณการผลิตที่ลดลงจากประเทศอื่น ๆ เช่น เวเนซุเอลา อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย
ส่วนสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาด โดยกำลังการผลิตรวมจากโครงการเดิมและโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 13% จากปี 61 มาอยู่ที่ 360 ล้านตัน/ปี ในขณะที่ความต้องการใช้จะอยู่ที่ประมาณ 347 ล้านตัน/ปี ส่งผลให้ราคา LNG คาดว่าจะวิ่งอยู่ในระดับต่ำ โดยตลาดคาดว่าราคา Asian Spot LNG เฉลี่ยจะอยู่ที่ 5.7- 6.6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าสภาวะล้นตลาดของ LNG จะเริ่มกลับเข้าสู่จุดสมดุลหลังจากปี 65-66
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้รวมในครึ่งแรกของปี 62 จำนวน 3,001 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 94,830 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 17% จาก 2,562 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 81,343 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปี 61
ปัจจัยหลักจากปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 326,971 บาร์เรล/วัน จาก 297,999 บาร์เรล/วัน ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเติมในแหล่งบงกช ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 47.26 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 45.51 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงเดียวกันของปี 61 ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปี 62 ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 827 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 26,163 ล้านบาท) สูงขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 30.24 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งอยู่ในระดับที่บริษัทคาดการณ์ไว้
ส่วนผลประกอบการของไตรมาส 2/62 ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 433 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 13,684 ล้านบาท) จาก 113 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 3,590 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากปัจจัยบวกจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้มีกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring items) รวม 44 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับการรับรู้ขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติรวม 223 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาส 2/61 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง
แผนงานจากนี้ไป ปตท.สผ. จะให้ความสำคัญกับเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ (Transition of Operations) ให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยในส่วนโครงการที่ได้จากการเข้าซื้อกิจการของ Murphy ในประเทศมาเลเซียนั้น บริษัทได้ตั้งทีมงานขึ้นโดยเฉพาะเพื่อดูแลเกี่ยวกับการโอนการดำเนินงาน
สำหรับ แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ซึ่ง ปตท.สผ. ชนะการประมูลนั้น อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้ดำเนินการปัจจุบันของแปลง G1/61 เรื่องการประสานงานเพื่อเข้าพื้นที่ภายในปีนี้ เพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถวางแผนการลงทุนล่วงหน้า เช่น การติดตั้งแท่นและหลุมเจาะที่จะใช้ในปี 65 เมื่อบริษัทเข้าเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง