SENA เผยนลท.แห่จองหุ้นกู้ล้นวงเงินเสนอขาย 1.8 พันลบ. พร้อมนำเงินคืนหนี้-เดินหน้าขยายธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 30, 2019 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัท ครั้งที่ 1/2562 ในวงเงินไม่เกิน 1,800 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนจำนวนมาก มีนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) เข้ามาจองซื้อหุ้นกู้ของบริษัทสูงกว่าวงเงินที่บริษัทเสนอขายจำนวนมาก

"การออกหุ้นกู้ของบริษัทครั้งแรกในปีนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ขายหมดเกลี้ยงภายในวันเดียว และมียอดการจองซื้อมากกว่าที่บริษัทเสนอขาย สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของบริษัท และศักยภาพการเติบโตของบริษัทในอนาคต"นางเกษรา กล่าว

การออกและเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ วงเงินไม่เกิน 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่เสนอขาย 1,300 ล้านบาท และ หุ้นกู้สำรองขายอีกไม่เกิน 500 ล้านบาท อายุ 3 ปี 7 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.40 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยมีธนาคารกสิกรไทย บล.ภัทร และ บล.โนมูระ พัฒนสิน เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ และธนาคารธนชาต เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน โดยเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ จะนำไปใช้ชำระคืนหนี้เดิม ซึ่งอาจรวมถึงตั๋วแลกเงินที่จะครบกำหนดไถ่ถอน และ/หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของผู้ออกหุ้นกู้และ/หรือเพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจโดยมีระยะเวลาการใช้เงินภายใน 6 เดือน

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ระดับ "BBB" แนวโน้ม "Stable" สะท้อนถึงสถานะของธุรกิจที่มีความเข้มแข็งทางการเงิน และสามารถพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างเป็นไปตามเป้าหมายทั้งโครงการในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ทำให้บริษัทมียอดขาย และยอดโอนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของผลประกอบการที่ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

นางเกษรา กล่าวว่า สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทนั้น บริษัทเตรียมรุกตลาดพลังงานมากขึ้น โดยบริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ได้มีการวางแผนและตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ 600 ล้านบาท รวมกำลังการติดตั้ง 24 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าไปขยายตลาดในกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ โรงงาน คลังสินค้า เป็นต้น รวมจำนวน 13 แห่ง โดยเฉพาะการเข้าไปทำตลาดในรูปแบบของการจำหน่ายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ประกอบการ หรือ Private PPA เป็นการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา และจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ให้กับผู้ประกอบการโดยตรง เนื่องจากช่วงเวลากลางวันเป็นช่วงเวลา การจำหน่ายไฟฟ้าที่มีราคาสูง (ON PEAK) ทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานลดต่ำลง เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะมีราคาที่ต่ำกว่า ราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบของการไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ