บล.กสิกรไทย มอง SET ระยะสั้นแกว่งกรอบ 1,660-1,670 จุด คงมุมมองเชิงบวกได้แรงหนุนเฟดลดดอกเบี้ย-มาตรการกระตุ้นศก.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2019 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย ด้วยเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ล่วงหน้า 12 เดือนที่ระดับ 1,775 จุด ระยะสั้นมองว่าตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,660-1,670 จุดในเดือน ส.ค. ซึ่งตลาดจะสามารถปรับเพิ่มมูลค่าหุ้น (re-rating) โดยจะได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ซึ่งต้องติดตามถ้อยแถลงของเฟดในคืนนี้ หากส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยอีกก็จะเป็นสิ่งที่หนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปต่อได้

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเป็น A- จากปัจจุบันอยู่ที่ BBB ในขณะเดียวกันคาดว่ารัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมและเป็นรูปธรรมมากขึ้น จะช่วยจำกัด Downside ของตลาด แต่ผลประกอบการของบริษัทจทะเบียนที่ออกมาไม่ดีนักก็จะเป็นสิ่งที่จำกัด Upside ของตลาดเช่นกัน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตามอยู่อย่างต่อเนื่อง คือ ความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและประเทศจีนที่รุนแรงขึ้นจนอาจจะทำให้มีการใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบแผ่ขยายในวงกว้างกว่ามาตรการด้านภาษี และการพลิกกลับของแนวโน้ม bond yield ของโลก

นายภาสกร กล่าวอีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่แนะนำในลงทุนในระยะนี้ คือ กลุ่มโรงแรมและการท่องเที่ยว โดย MINT คาดว่าจะมีกำไรต่อหุ้นเติบโต 37% และเชื่อว่าจะมีการปรับเพิ่มมูลค่าหุ้นจากสัดส่วนกำไรของธุรกิจโรงแรมที่สูงขึ้น รวมไปถึงในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวด้วย

กลุ่มพาณิชย์ คือ CPALL โดยจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐบาลและจากโอกาสที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัด

กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มนี้ในแง่ของกำไรที่แข็งแกร่งในปี 62 โดยเลือก CPF เป็นหุ้นเด่นเพราะราคาเนื้อสุกรแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง หลังจากมีการแพรระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ในเวียดนาม

กลุ่มรับเหมาโยธา คือ CK และ STEC มีโอกาสที่ปรับตัวขึ้นจากการประมูลโครงการภาครัฐภายใต้รัฐบาลชุดใหม่

กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คือ KTB และ SCB โดยคาดว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญจะยังปรับลดต่อเนื่อง ขณะที่การก่อตัวของหนี้เสียใหม่ (NPL) ปรับดลลง QoQ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/61

กลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือ TFFIF มีอายุกองทุนเหลือ 29 ปี กระแสรายได้มั่นคง ความผันผวนต่ำ และโอกาสที่จะมีการอัดฉีดสินทรัพย์โดยรัฐบาล

กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คือ AMATA ยังคงมุมมองเชิงบวกตอ่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยมองว่าจะได้รับประโยชน์จากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และจากการย้ายฐานโรงงานจากประเทศจีน

และสุดท้ายคือ กลุ่ม ICT คือ DTAC และ TRUE ยังคงมุมมองเชิงบวกโดยคาดว่าตลาดจะมองบวกต่อทิศทางการเติบโตด้านรายได้ของอุตสาหกรรมมือถือมากขึ้น และการแข่งขันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง และตลาดประเมินโอกาสการปรับลดต้นทุนจากการยุติบริการ 2G ที่น้อยเกินไป สุดท้ายคือคลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 5G และวัฎจักรการลงทุน (CAPEX) ในอนาคตมากเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ