นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทจัดทำยุทธศาสตร์การลงทุน 5 ปี (ปี 63-67) มีวงเงินการลงทุน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีอยู่ 500-600 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานทดแทนที่มีหลากหลายประเภทไม่จำกัดว่าเป็นพลังงานลมเพียงอย่างเดียวเหมือนเป้าหมายเดิม เพราะเห็นโอกาสการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าในหลายรูปแบบ
"ก่อนหน้านี้เราโฟกัสที่ลมเพราะเข้าใจว่าในเอเชียแปซิฟิกน่าจะอยู่ที่ลม แต่ดูไปดูมาแล้วยังมีหลากหลายทั้งโซลาร์ มาเลเซียก็เปิด โซลาร์เวียดนามก็มี เขื่อนลาวก็มี ลมลาวก็มี ก็เลยปรับเป็นภาพรวมมากกว่าใน 1,000 เมกะวัตต์ที่ตั้งไว้ ก็ยังโฟกัสในภูมิภาคนี้ใกล้ ๆ บ้านเรา หรือที่เคยพูดไว้ทั้งออสเตรเลีย ไต้หวัน"นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับเงินลงทุนที่จะใช้รองรับพัฒนาโครงการจะมาจากกระแสเงินสดที่เข้ามาในแต่ละปี ขณะที่บริษัทยังมีศักยภาพการกู้เพียงพอที่จะใช้ลงทุน รวมถึงยังมองโอกาสที่จะขายโรงไฟฟ้าให้กับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเหมือนที่เคยขาย 2 โครงการโซลาร์ฟาร์มให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็จะทำให้มีกระแสเงินสดกลับเข้ามา แต่บริษัทยังได้สิทธิดูแลและบำรุงรักษาโครงการโรงไฟฟ้าอยู่ ทำให้มีรายได้จากงานดังกล่าวเข้ามาต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทยังมีหน่วยงานพิเศษ CDOE (Center Digital of Energy) เพื่อพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือรับบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า และยังมีความร่ววมือกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development เพื่อส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งในอนาคตทั้งสองหน่วยงานนี้อาจจะได้สิทธิขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐบาล หลังรัฐบาลจะเปิดช่องโดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านพลังงาน หลังจะให้กองทุนฯแก้ระเบียบ วิธีการขอการสนับสนุนเงินกองทุน ให้สอดรับกับการเกิดพลังงานชุมชน รวมถึงสตาร์ทอัพด้านพลังงาน
นายบัณฑิต กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนร่วมกับบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ซึ่งเป็นแม่ในการนำแร่ลิเทียมมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ หลังจากที่เหมืองแร่ลิเทียมในอาร์เจนตินา ที่บางจากฯร่วมทุนกับ Ganfeng Lithium ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีนนั้นจะเริ่มผลิตแร่ลิเทียมในปี 63 โดยบางจากฯได้สิทธิซื้อแร่ลิเทียม จำนวน 2,500 ตัน /ปีในช่วงแรก และเพิ่มเป็น 6,000 ตัน/ปีเมื่อเหมืองแร่ผลิตได้เต็มที่ ซึ่งคาดว่าแผนการศึกษาน่าจะแล้วเสร็จก่อนที่แร่ลิเทียมจะออกสู่ตลาด
เบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมหรือไม่ หลังจากเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่เริ่มนิ่ง และกลุ่มก็มีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง Ganfeng แต่ขณะเดียวการจัดตั้งโรงงานก็ควรอยู่ใกล้ตลาดที่มีความต้องการใช้ด้วย โดยตลาดไทยก็นับว่ายังมีการเติบโตต่อเนื่องทั้งในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า และที่พักอาศัยที่มีความต้องการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน ( Energy Storage System)
"ตอนนี้เทคโนโลยีเริ่มนิ่งจากช่วง 2 ปีที่แล้วเปลี่ยนแปลงไวมาก เรามี Ganfeng เป็นเจ้าพ่อแบตเตอรี่ ปริมาณ 2,500 ตัน ได้รถยนต์ 17,000 คัน สมาร์ทโฟน 1.1 ล้านเครื่อง การจัดตั้งโรงงานแบต ถ้าจะเกิดควรตั้งอยู่ใน market ถ้าไทยมี demand แบตเยอะ สมดุลกับการออกแบบก็ทำได้ ถ้าตั้งเพื่อส่งออก ไปแข่งกับจีนก็แย่"นายบัณฑิต กล่าว